จากที่กล่าวมาในตอนต้นของบทความ เราจะเห็นได้ว่า ทั้งการวิเคราะห์การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค ล้วนมีข้อดีของแต่ละศาสตร์ที่สามารถทำให้เราได้เปรียบในการลงทุนได้ แต่ต้องยอมรับว่า ในแต่ละศาสตร์ล้วนมีจุดตายและขีดจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถใช้เม็ดเงินลงทุนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อ่านถึงประโยคนี้ผมเชื่อว่า หลายคนตั้งข้อกังขาในใจกันไปแล้วกึ่งหนึ่งว่า ไม่จริง ขอลองถามให้คิดตาม
เริ่มจากนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว คุณเคยเสียดายไหมที่ราคาหุ้นปรับตัวลงหนักมาก แต่เรายังต้องถืออยู่ เพราะเราซื้อด้วย Safety Margin ที่เหมาะสม และหุ้นไม่ได้ Over Price ที่เราประเมินไว้ แล้วสุดท้ายมาพบว่า งบการเงินไตรมาสล่าสุด ผิดจากคาดการณ์หรือกำไรถดถอยในเวลาถัดมา ซึ่งทำให้สุดท้ายราคาก็กลายเป็น Over Price แล้วเราก็ต้องขายโดยคืนกำไรไปพอประมาณเลยทีเดียว
ฝั่งเทคนิคบ้าง เคยไหมครับ ข่าวร้ายประกาศก่อนเปิดตลาด หุ้นไหลเป็นน้ำไปยัง Floor ถึงจุด Stoploss ออกมาอย่างตกใจตามความดุดันของแรงขาย สุดท้ายราคาหุ้นกลับมาที่เดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วเราไม่กล้าซื้อกลับ แต่ก็มีคนวิเคราะห์ออกมาว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลกระทบ “ระยะสั้น” และไม่ใช่สัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อรายได้บริษัท
เป็นตลกร้ายอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาว่าทั้ง 2 แนวทางล้วนมีข้อเสียเปรียบและข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน และที่น่าแปลกคือสามารถนำมาผสม เพื่อเสริมการลงทุนโดยลดข้อเสียของแต่ละศาสตร์ได้บ้าง การนำทั้ง 2 ศาสตร์ของการลงทุนมาร่วมกันวิเคราะห์ จะสามารถทำให้เราเห็นโอกาสและความเสี่ยงได้มากขึ้น ขอยกตัวอย่าง 3 กรณี
เป็นเรื่องจริงที่ว่า การลงทุนคือการคาดหวังในอนาคต เพื่อการแสวงหากำไรจากข้อมูลในมือที่เรามีแต่การคาดการณ์จากข้อมูลที่เรามีจากการใช้ 2 ศาสตร์นั้นสามารถช่วยให้เราจำกัดชุดของหุ้นที่จะลงทุน เพิ่มโอกาสในการทำกำไร และบางครั้งทำให้เราไม่พาตนเองไปยืนบนปากเหวของการขาดทุนได้อย่างไม่รู้ตัว ในบทความชุดถัดไปเราจะมาพูดคุยกันต่อถึงโอกาส และข้อดีของการประยุกต์ใช้ศาสตร์ของการลงทุนจากทั้ง 2 โลกเข้าด้วยกัน ขอบคุณครับ