ลงทุนแบบความผันผวนต่ำ (Low Volatility) ในตลาดทุนไทย 

08 ก.ย. 2566 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 09:07 น.

ลงทุนแบบความผันผวนต่ำ (Low Volatility) ในตลาดทุนไทย : คอลัมน์ มันนี่ ดีไอวาย โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด 

ในปัจจุบันโลกที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการสื่อสารที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ รวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับด้านการลงทุนมีความสะดวกสบายมากขึ้น นักลงทุนจึงสามารถหาข้อมูลและความรู้ได้อย่างมากมายและหลากหลาย โดยเฉพาะเทคนิคการคัดเลือกหุ้นแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหุ้นแบบ Value Investor (VI) การเลือกหุ้นประเภทหุ้นเติบโต (Growth Stock)หรือการเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับการผสมหุ้นหลายๆ ตัวเพื่อจัดเป็นพอร์ตลงทุนนั้นยังไม่ได้มีมากและแพร่หลายเหมือนกับความรู้ในการเลือกหุ้นรายตัว และนักลงทุนส่วนใหญ่อาจไม่ใส่ใจในประเด็นการจัดพอร์ตลงทุน จึงให้น้ำหนักลงทุนหุ้นแต่ละตัวตามความชอบส่วนตัว โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงแฝงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างหุ้นแต่ละตัว เช่น ถ้าเรากระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มน้ำมัน 3 ตัว ถึงแม้ว่าจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับรายบริษัทได้ แต่ไม่ได้ลดความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญที่กระทบต่อปัจจัยน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลทันทีต่อหุ้น 3 ตัวนี้ไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้ ด้วยสภาวะตลาดทุนปัจจุบันยังมีความผันผวนที่สูงมาก และสามารถปรับตัวขึ้น-ลงได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ จึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด หรือมีการซื้อขายหุ้นที่คร่อมจังหวะไปหมด เช่น เข้าซื้อตอนหุ้นราคาแพงแล้วกลับมาขายขาดทุนวนซ้ำๆ กันไป เป็นต้น

ดังนั้น แนวทางหนึ่งในการจัดพอร์ตให้รอดในสภาวะตลาดเช่นนี้คือ การจัดพอร์ตลงทุนแบบความผันผวนต่ำ (Low Volatility) โดยการลงทุนแบบความผันผวนต่ำนี้ ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ การคัดเลือกหลักทรัพย์ และการจัดพอร์ตการลงทุน

ลงทุนแบบความผันผวนต่ำ (Low Volatility) ในตลาดทุนไทย 

การคัดเลือกหลักทรัพย์ สำหรับพอร์ตความผันผวนต่ำคือ เน้นหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานที่ดี ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งบอกถึงบริษัทที่มีศักยภาพทางการเงินที่ดี นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนการดำเนินการที่สามารถคาดการณ์ได้ โดยทั่วไปแล้วหลักทรัพย์ของบริษัทประเภทนี้จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีความผันผวนในราคาต่ำ มีความเสี่ยงที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลักทรัพย์อื่นๆ อีกทั้งมีโอกาสไม่มากที่ราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว

การจัดพอร์ตการลงทุน คืออีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะการเลือกหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำนั้น มักจะทำให้การเลือกหลักทรัพย์จะมาจากกลุ่มธุรกิจเดียวกันในจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค อุปโภค บริโภค เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ซึ่งการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกันในจำนวนมากนั้น อาจทำให้ขาดการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นในธุรกิจเดียวกันมีความสัมพันธ์ที่สูง 

กล่าวคือ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในกลุ่มธุรกิจนี้ หุ้นในกลุ่มธุรกิจเดียวกันนี้มักจะปรับตัวลงพร้อมๆ กัน ดังนั้นการจัดพอร์ตโดยการกระจายหลักทรัพย์ไปยังหลายๆ กลุ่มธุรกิจ จะช่วยลดความเสี่ยงแลเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากหลายๆแหล่งได้ และเทคนิคท้ายที่สุดคือ การให้น้ำหนักการลงทุนที่กลับข้างกันกับความผันผวนในหุ้นตัวนั้นๆ เช่น จะให้น้ำหนักลงทุนมากกับหุ้นที่ผันผวนต่ำและให้น้ำหนักน้อยกับหุ้นที่ผันผวนสูง ก็จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสนใจเข้าลงทุนหรือมีพอร์ตลงทุนแบบความผันผวนต่ นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลเพื่อจัดพอร์ตด้วยตนเองแล้ว ยังสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่ปัจจุบัน มีบริษัทจัดการกองทุนที่นำเสนอกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเน้นจัดพอร์ตให้มีความผันผวนต่ำ

กองทุนประเภทนี้เองก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าตลาด แม้ว่ากองทุนประเภทนี้อาจยังมีจำนวนกองทุนที่เสนอขายออกมายังไม่มากนักแต่เชื่อได้ว่า ในอนาคตกองทุนประเภทนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนแบบความผันผวนต่ำ เพื่อสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงและมีความเสี่ยงที่ลดลงกว่ากองทุนหุ้นโดยทั่วไป