วาระร้อนครม. ล่าสุด หลังจากมีมติเห็นชอบการจัดเก็บ "ภาษีขายหุ้น" ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในอัตรา 0.10% จากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) แต่ในปีแรกจะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น
โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ซึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หลังจากกฎหมายฉบับนี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ต่อไปภายใน 3 เดือน
เบื้องต้นการเก็บภาษีขายหุ้น ครั้งนี้ จะยกเว้นในส่วนของกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม เป็นต้น โดยกระทรวงการคลัง ประเมินว่า การปัดฝุ่นจัดเก็บภาษีฉบับนี้ จะสร้างรายได้เข้ารัฐได้อีกประมาณปีละ 1.5 - 1.6 หมื่นล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดที่มาของการ "เก็บภาษีขายหุ้น"
สำหรับการเก็บภาษีขายหุ้น 0.10% ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดิมที ในปี 2521 รัฐได้มีการจัดเก็บภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 0.1% ของรายรับ แทนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกำไร (Capital Gains) จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และ ในปี 2525 มีการยกเว้นภาษีการค้าให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
ต่อมาในปี 2534 ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 โดยมีบทบัญญัติให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยฐานภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ คือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
โดยอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์คือ 0.1% หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น อีกทั้งยังมีบทบัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะคือ ผู้ขาย แต่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (Broker) มีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี แทนผู้ขายในนามตนเอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่า Broker เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีด้วย
จากนั้นในปี 2535 ได้มีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะแทนภาษีการค้า โดยการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ของรายรับ หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี ธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 257) พ.ศ. 2535 กำหนดให้ ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์
นั่นจึงมีผลให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ความจำเป็นของการเก็บภาษีขายหุ้น
กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน
จึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นภาษี ธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บ (0.055% อัตราที่รวมกับภาษีท้องถิ่น) และจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อ ๆ ไป ของการจัดเก็บ (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น)
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระยะเวลาเพียงพอแก่การปรับตัวรับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสงครามรัสเซีย – ยูเครนต่อการลงทุน ก่อนจะเริ่มเสียภาษี รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหัก และนำส่งภาษี
พร้อมเห็นว่า ควรคงการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ
เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบ ต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ๆ แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ผลของการเก็บภาษีขายหุ้น
มาตรการนี้เป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดเก็บในอัตราหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บปีแรกแล้วจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บปีต่อ ๆ ไป และคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์บางกลุ่ม
จึงไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ แต่จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ ไปของการจัดเก็บประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท
ส่วนผลด้านอื่น ๆ สรุปได้ดังต่อไปนี้