จากกกรณีที่ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น โดยเริ่มในปี 2566 ที่อัตรา 0.055% และเพิ่มเป็น 0.11% ในปี 2567
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้น เราได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างรอบด้าน และได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาปรับให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บแล้ว โดยเฉพาะระยะเวลาการจัดเก็บ จะทยอยการจัดเก็บครึ่งหนึ่งในปีแรก ส่วนปีถัดไปอัตรา 0.11% เพื่อให้เวลาปรับตัว เบื้องต้นคาดว่าจะจัดเก็บภาษีขายหุ้นในช่วงเดือน พ.ค.2566
ส่วนเรื่องผลได้ผลเสียเมื่อเก็บภาษีแล้ว มีการมองว่าจะเกิดความไม่คุ้มค่า เนื่องจากวอลุ่มตลาดปรับลดลง อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า วันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะมีผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร เพราะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เชื่อว่าจะกระทบในระยะสั้น เพราะเราได้ศึกษามาอย่างรอบด้าน หารือกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่ของใหม่ เป็นเรื่องที่เราจัดเก็บอยู่แล้ว แต่ได้ยกเว้นมานาน ขณะเดียวกัน อัตราที่เริ่มใช้ ก็ลดลงจากอัตราที่จัดเก็บจริงในปีแรกเพื่อดูผลกระทบ
“เราดูแล้วอัตราที่เราใช้ก็เทียบเคียงกับตลาดหุ้นอื่นๆรอบบ้านเรา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาเทียบ ถึงเทียบแต่กับสิงคโปร์ ไม่เทียบกับประเทศอื่นบ้าง ที่เก็บทั้งภาษีซื้อขายและ Capital Gain ซึ่งประเทศที่เก็บภาษีดังกล่าวก็เป็นศูนย์กลางการเงินอีกด้วย”
ตลท. ยืน 3 หลักการ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยว่าในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะใช้เมื่อไหร่ อัตราเป็นอย่างไร และจะยกเว้นกลุ่มใดบ้าง ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับทราบแค่สิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมา จึงต้องรอความชัดเจนที่มากขึ้นก่อน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตลาดได้เสนอมาตลอดมี 3 เรื่อง คือ 1.อัตราการจัดเก็บ โดยให้จัดเก็บให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 2.การจัดเก็บที่จะไม่ก่อให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน และ 3.มีเวลาที่จะให้ภาคธุรกิจได้มีเวลาทำระบบ ปรับตัว เพื่อดำเนินเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี