การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลให้สินทรัพย์การลงทุนทั้งการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ต่างติดลบทั้งสิ้น
นายยศกร นิรันดร์วิชย กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด (StashAway) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลำบากจริงๆ สาเหตุจากซัพพลายดีสรัปชั่นและราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครนที่บังคับให้ธนาคารกลางต่างๆต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ จึงทำให้เกิดความผันผวนในตลาดและเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ตามตำราแล้ว หุ้นกับตราสารหนี้ มักเคลื่อนไหวสวนทางกัน โดยเมื่อเศรษฐกิจดี หุ้นจะทำผลตอบแทนได้ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี หุ้นจะไม่ดี แต่ตราสารหนี้จะทำได้ดี จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเวลาที่จัด Asset Allocation 2 สินทรัพย์นี้จึงเป็นส่วนผสมที่ดี
“ปีนี้มีเหตุการณ์ที่แปลกคือ เป็นปีแรกในรอบ 20 ปี ที่หุ้นและตราสารหนี้ลงทั้งสองและเป็นครั้งแรกใน 100 ปีที่ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ร่วงลง 2 หลักถือว่า สถานการณ์ที่เราอยู่นี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และหากดูที่บลูมเบิร์กไปทำสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์คิดว่า 60% เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 12 เดือนหรือแม้แต่จากโมเดลของเขาเองพบว่า 80% เศรษฐกิจของยุโรปอาจจะเข้าภาวะถดถอยได้ภายใน 12 เดือน”นายยศกรกล่าว
ขณะที่ตราสารหนี้จะมีพฤติกรรมที่สวนทางกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ตลาดเริ่มเห็นแล้วว่า สหรัฐอาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยประมาณช่วงกลางปีถึงปลายปีหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีกับคนที่ถือตราสารหนี้ในช่วงนั้น เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยลง ราคาตราสารหนี้จะขึ้น และตลาดการซื้อขายล่วงหน้าเองก็เริ่มมีการรับรู้ว่า เฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า ซึ่งแปลว่า มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ส่วนการลงทุนในหุ้น ช่วงที่เกิดภาวะถดถอย หุ้น Defensive หรือหุ้นตั้งรับต่างๆ มักจะให้ผลตอบแทนได้ดี เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร พวกสินค้าจำเป็นคนยังต้องกินต้องใช้ แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาในช่วงฟื้นตัวหุ้น physical หุ้นที่ตามวัฏจักรเศรษฐกิจจะทำกำไรได้ดีกว่า
นอกจากนั้นมีประเด็นที่ต้องจับตาคือค่าเงิน ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่ามากไม่ใช่เพราะค่าเงินบาทอ่อน แต่เป็นเพราะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นสูงของเฟดและดอลลาร์สหรัฐ ยังถือเป็นค่าเงินที่เป็น Safe haven เวลาเกิดภาวะถดถอย นักลงทุนมักจะเทเข้าไปในดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นในการบริหารจัดการพอร์ต จึงมีดอลลาร์สหรัฐอยู่ด้วย เพราะถือว่า เป็นเกราะป้องกันระดับหนึ่ง
สำหรับ StashAway เป็น WealthTech ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก โดยเปิดให้บริการในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ดูไบและไทย ซึ่งหลายๆที่จะเป็น financial hub และถ้าเปรียบเทียบจากสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนด้วยเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี
“เราให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมาก นักลงทุนแค่เลือกระดับความเสี่ยง แล้วเราจะรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตลูกค้าตลอดเวลา โดยเราจะไม่ปรับพอร์ตตามความเคลื่อนไหวของตลาด แต่จะปรับตามความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจเช่น เงินเฟ้อสูง เราจับสัญญาณได้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จึงปรับให้มีสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีกับเงินเฟ้อ เช่น น้ำมัน อสังหาฯ หรือตราสารหนี้ที่ปรับตามเงินเฟ้อ ทำให้ปีนี้ พอร์ตเรามีประสิทธิภาพดีกว่าทุกดัชนีอ้างอิง”
ทั้งนี้บริษัทมี 4 แผนลงทุนให้เลือกคือ
ล่าสุดบริษัทได้เปิดแผนลงทุนใหม่เป็น Flexible Portfolio เป็นการลงทุน ใน ETF โดยให้นักลงทุนสามารถปรับรูปแบบจากพอร์ตต้นแบบหรือสร้างพอร์ตใหม่ โดยมีสินทรัพย์การลงทุนให้เลือกกว่า 35+ ประเภททั่วโลกจากนั้นเราจะให้ระบบในการบริหารความเสี่ยงให้
"เรามองเห็น Pain Point ของคนไทยที่ถือเงินสดมากถึง 40-50% ของสินทรัพย์โดยรวม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง เพราะค่าของเงินจะลดลงเรื่อยๆ ตามภาวะเงินเฟ้อในแต่ละปี และสิ่งที่สำคัญคือ คนไทยยังลงทุนกระจุกตัวในประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อย่างการเมือง หรือวิกฤติเศรษฐกิจ แต่หากกระจายลงทุนไปทั่วโลก แม้จะเกิดเหตุกับบางประเทศ แต่ก็ยังอีกหลายประเทศที่ยังให้ผลตอบแทนได้ดี"นายยศกรกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,846 วันที่ 22 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565