คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวานนี้ (1 ก.พ.)ตามคาด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า ถึงแม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยต่อไป
แถลงการณ๋ดังกล่าวบ่งชี้ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่มีการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
ส่องไทม์ไลน์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ในปีที่ผ่านมา (2565) เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 7 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% ณ สิ้นปี
โดยในเชิงสถิติพบว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งของเฟดเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา มีการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราแรง 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง คือในเดือนมิ.ย., ก.ค., ก.ย. และ พ.ย.
จากนั้น จึงชะลอด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธ.ค.โดยไทม์ไลน์ในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตลอดทั้งปี 2565 เป็นดังนี้
การประชุมครั้งแรกของปี 2566 (31 ม.ค. ถึง 1 ก.พ.) ซึ่งเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น อีก 0.25% จึงทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวขึ้นมาสู่ระดับ 4.50-4.75%