"LTF"ถือครบ 7 ปีแล้ว ไปต่อหรือพอแค่นี้ดี !

09 ก.พ. 2566 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 03:29 น.

มักจะมีคำถามเข้ามาและได้ยินบ่อยๆ ว่า "เดี๋ยว LTF จะครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว จะเอาออกเลยดีไหม" หรือ น่าจะต้องถือ LTF ต่อไปก่อน เพราะยังติดลบกันอยู่เลย

 

หนึ่งในประเภทของการลดหย่อนภาษีที่ฮอตฮิตที่สุดในช่วงกว่าสิบปีก่อน แน่นอนว่า การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในรูปแบบของกองทุนรวมระยะยาว (LTF : Long-Term Fund) เป็นที่นิยมของบรรดาผู้เสียภาษีมาก เนื่องจากใช้สิทธิ์ได้ถึง 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และแยกต่างหากกับ RMF (จึงทำให้ผู้ลดหย่อนสามารถให้สิทธิ์เต็มที่ ได้รวม 1 ล้านบาท หากเงินได้ของผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนในปีภาษีนั้น มีรายได้ เกิน 3,333,333.33 บาท)

นโยบายของกองทุนรวม LTF คือ เป็นการออมการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ไทย โดยนโยบายได้กำหนดว่า กองทุนรวม LTF ต้องมีสัดส่วนถือลงทุนในหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของเงินลงทุนในกองทุนรวมนั้นๆ เพื่อตอบโจทย์ วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง LTF ประการหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และการสร้างวินัยการออมการลงทุนในระยะยาวโดยมีการลดหย่อนภาษีมาเป็นเครื่องมือจูงใจให้ลงทุนในระยะยาว นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ หลักการของ LTF ซึ่งต้องการเน้นให้ถือลงทุนแบบระยะยาว ตามชื่อของ LTF แต่สำหรับคำว่า “ระยะยาว” ของนักลงทุนแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนมองยาวๆ เป็น 10 ปี 20 ปี ขึ้นไป บางคน 5 ถึง 7 ปี แต่สำหรับบางคน แค่ปี 2 ปี ก็ถือว่ายาวนานแล้ว เป็นไปตามที่คาดการณ์

ช่วงแรกๆ ที่กฎหมายได้มีการกำหนดเงื่อนไขการถือครอง (แค่) 5 ปีปฏิทิน โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของคณะกรรมการฯ ผู้ตรากฎหมายคงหวังใจให้ถือครองครบ 5 ปีเต็มๆ แต่ด้วยความที่เงื่อนไขมีช่องโหว่ในแง่ของระยะเวลาในการถือครอง (ที่เราๆ มักจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า) “ถือครองแค่ 3 ปีกับอีก 2 วัน ก็เอาเงินออกได้แล้ว” (ทั้งนี้ หากเข้าซื้อกองทุน LTF ช่วงวันทำการสุดท้ายของปลายปีก่อนหน้า แล้วถือลืมๆ ไปอีก 3 ปี และเมื่อย่างเข้าปีใหม่ วันทำการแรก ก็จัดการขายหน่วยออกเลย) อ้าวเป็นแบบนั้นไป!!! ซึ่งนั่นผิดวัตถุประสงค์ที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้
 

ถัดมาเมื่อปี 2559 มีการปรับเงื่อนไข เรื่องจำนวนปีที่ต้องถือครองก่อนขายออก จาก 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน เพื่อที่นักลงทุนต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปีเต็ม (กับอีก 2 วัน) และมีการประกาศเรื่องยกเลิกกองทุน LTF ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่สามารถจะซื้อ LTF เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ (โดยหลังจากนั้น ปี 2563 ก็ได้มีการประกาศ ปรับเปลี่ยนกฎหมาย หลังจากยกเลิก LTF ไปแล้ว โดยเปลี่ยนประเภทกองทุนในการลดหย่อนภาษี มาใช้เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม 2 ประเภท ได้แก่ SSFX (Super Saving Fund Extra) และ SSF (Super Saving Fund) แทน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขจากเดิม LTF ถือครอง 7 ปีปฏิทิน ไปเป็น SSFX / SSF ต้องถือครอง 10 ปีเต็ม แบบวันชนวัน

 

ซึ่งความแตกต่างระหว่างกองทุน SSFX กับ กองทุน SSF อีกประการหนึ่ง ตรงที่ SSFX นั้น มีการกำหนดระยะเวลาที่เสนอให้ผู้ต้องการลดหย่อนภาษีเข้าซื้อลงทุน SSFX ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 เฉพาะแค่ช่วง 3 เดือนนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้แบบ Top-up เพิ่มต่างหากอีก 200,000 บาท (โดยแยกก้อนกับกัน RMF ที่ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท)

แต่สำหรับ SSF จัดเป็นหมวดกองทุนเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นหมวดเดียวกันกับ RMF โดย SSF สิทธิ์ในการคำนวณเพื่อลดหย่อน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

LTF ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะไปต่อหรือพอแค่นี้?

 

ย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้น “LTF ที่ถือมาครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี?”

เงื่อนไขถือครองกองทุน LTF 7 ปีปฏิทิน ตามเกณฑ์ปี 2559 ถึงปี 2562

  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2559 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2565
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2560 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2566
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2561 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2567
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2562 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2568

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ มีกำไรแล้ว :  จะพิจารณาได้ทั้ง 2 ทางเลือก ทั้งสามารถจะขาย LTF ได้ เนื่องจากเราได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีไปแล้ว หรือ จะยังคงถือลงทุนต่อไปเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่ากำไรที่แสดง (Unrealized Gain) ในระยะยาวต่อก็ได้

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ยังขาดทุน : ถ้าเป็นที่ LTF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล กรณีนี้ เราอาจต้องนำส่วนเงินปันผลที่เคยได้รับมาตลอดระยะเวลาที่ถือครองมาพิจารณาร่วมด้วย หากคำนวณรวมปันผลแล้วสามารถหักกลบที่ขาดทุนได้ เราจะพิจารณาขายหน่วยลงทุน LTF ออกมาก็ได้ หรือ จะยังคงถือลงทุนต่อเนื่องต่อไปเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าในระยะยาวก็ได้

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ ยังขาดทุน :  หากเป็น LTF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล แต่เนื่องจากเราได้ปฏิบัติถูกต้องและครบตามเงื่อนไขและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีไปแล้ว กอปรกับ เมื่อพิจารณา Top 5 หรือ Top 10 Holdings หุ้นไส้ในที่กองทุนไปลงทุนอยู่รายตัวแล้ว ให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน แนวโน้ม ภาพรวม ตัวชี้วัดของเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทย และเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคตมาประกอบกันด้วยแล้ว 

ทางเลือกแรก ถ้าคาดการณ์ว่า (หุ้นไส้ใน) กองทุน อาจจะไม่สามารถทำ NAV สูงสุด คือไม่สามารถกลับมากำไรได้ (ความคิดเห็นส่วนตัว) เราอาจจะยอมขายขาดทุน (ในส่วนที่ยอมรับขาดทุนจริงๆ ได้) เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ (Reinvestment) หรือ ทำธุรกิจ (Business) น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดประโยชน์กับเรามากกว่า 

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่ง คือ ทางเลือกที่ 2   (กัดฟัน) ถือต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึง สภาพคล่องที่เสียไป กับ เวลา (ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน) ที่คาดหวังว่า NAV จะกลับมาให้พอเห็นกำไรได้ ทั้งนี้ต้องมีปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกในอนาคต จะต้องปรับไปในทิศทางที่ค่อนข้างดีมากๆ และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่นานพอสมควร เพื่อที่วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) ทำให้ธุรกิจกลับมากำไรได้อีกครั้ง

ข้อควรระวัง :  กำไรจากการขายหน่วย LTF เราต้องถูกนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในการยื่นภาษีของปีที่ทำรายการขายหน่วยออกไป (Redemption) หากผู้ถือหน่วยปฏิบัติไม่ครบเงื่อนไขทางภาษีของสรรพากร

แนะนำให้จัดเก็บเอกสาร หรือสแกนไฟล์หลักฐานต่างๆ เก็บเอาไว้ให้ดีด้วย เผื่อถ้าหากสรรพากรเรียกขอดูหลักฐานภายหลัง ฉะนั้น เราต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการประกอบกัน จึงตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองมากที่สุด โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางการเงิน

 

บทความโดย :  กฤษณา เพียรโอภาส ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

ที่มา :  LINE@cfpthailandสมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th