ชื่อของ "เฮียม้อ-อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ" ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในบุคคล 18 ราย ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น MORE ที่มีการซื้อขายเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท สร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์หลายราย มีมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท
บุคคลทั้ง 18 รายถูกก.ล.ต.กล่าวโทษในข้อหาเข้าข่ายเป็นฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึง 5 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดย ก.ล.ต.ได้ส่งเรื่องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ประชุมสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหุ้น MORE อันเกิดจากดำเนินการ โดยนาย อภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกฯ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 59 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 4,470 ล้านบาท
ภายหลังถูกก.ล.ต.กล่าวโทษ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ได้ตัดสินใจลาออกจากจากตําแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MORE เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อพิสูจน์ตนเองในชั้นการสอบสวนต่อไป พร้อมแจ้งการลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการ บมจ. โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.2566
ย้อนวีรกรรม "เฮียม้อ" ในตลาดหุ้นไทย
ต้องยอมรับว่าชื่อของ เฮียม้อ มีประวัติที่ไม่ธรรมดา อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของคนในแวดวงตลาดหุ้นเป็นอย่างดี โดยว่ากันว่า หากได้ยินชื่อ เฮียม้อ เข้าไปถือหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นก็จะวิ่งกระฉูด
อย่างกรณีบริษัท เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า จำกัด (มหาชน) หรือ AJP บริษัทที่ดําเนินธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจมีเดีย ธุรกิจให้บริการด้านสื่อ ผู้จัดหา ผลิตและ/หรือร่วมผลิตสื่อโฆษณา ณ จุดขาย/การจัดงานอีเว้นท์/การผลิตผ่านสื่อออฟไลน์ออนไลน์ ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี หลังมีชื่อเฮียม้อเข้าไปถือหุ้นเมื่อหลายปีก่อน ปรากฎว่า มีการไล่ราคาหุ้น AJP ขึ้นไปอย่างมาก
ต่อมา AJP ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท ดีวี8 จำกัด (มหาชน) หรือ DV8 ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับกรณีหุ้น DNA บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ก่อนปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE หลังมีชื่อเฮียม้อเข้ามาถือหุ้นใหญ่ราคาหุ้นก็วิ่งกระฉูดเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 หุ้น DNA เคยมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการเข้าไปพัวพันกับการฉ้อโกง “บิตคอยน์” ของนักธุรกิจชาวฟินแลนด์วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท โดยมีนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้บริหารโบรกเกอร์ชื่อดัง และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าไปเกี่ยวข้อง จนทำให้ราคาหุ้น DNA ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท มอร์ รีเทิร์น (MORE) พร้อมปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ขายหุ้นสัดส่วน 15.05% ของทุนจดทะเบียนให้นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จนถึงปัจจุบัน
กระทั่งเมื่อวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) มีการตรวจสอบพบความผิดปกติการซื้อขายหุ้น MORE จำนวน 1.5 พันล้านหุ้น มูลค่าการซื้อขาย 4.5 พันล้านบาท ก่อนมีการประสานข้อมูลร่วมกับก.ล.ต. บก.ปอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยตรวจสอบความผิดปกติ จนนำมาสู่การอายัดทรัพย์ และกล่าวโทษบุคคลทั้ง 18 รายในที่สุด
ประวัติ "เฮียม้อ-อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ"
"ฐานเศรษฐกิจ"ตรวจสอบข้อมูลการเป็นกรรมการจากระบบ data creden พบว่า นอกจากนายอมฤทธิ์ จะนั่งเป็นกรรมการใน MORE และ COMAN แล้วเขายังเป็นกรรมการอีก 15 บริษัท โดยหลายบริษัทมีชื่อ มอร์ นำหน้า
บริษัทที่ "เฮียม้อ-อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ" เป็นกรรมการ