โบรกแนะ มี.ค.66 ปรับพอร์ตลงทุน แจกโพยหุ้น 7 ตัวเด่นมีอัพไซด์

01 มี.ค. 2566 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2566 | 12:57 น.

บล.เอเซียพลัส แนะเดือน มี.ค.66 ปรับพอร์ตลงทุน แจกโพย 7 หุ้นเด่นมีอัพไซด์ เน้นหุ้นกำไรดีโตต่อเนื่อง หลังต่างชาติขายหุ้นไทยหนักช่วง ก.พ. 66 ลุ้นเลือกตั้ง ประชุม กนง. ชะลอขึ้นดอกเบี้ย หนุน Flow ไหลกลับ

สําหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค. ภายใต้ Valuation ตลาดหุ้นไทย ที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น รวมถึง Fund Flow ชะลอการไหลเข้า การเลือกหุ้นลงทุนจําเป็นจะต้องพิถีพิถันมากขึ้น แนะนําสะสมหุ้นกําไรงวดไตรมาส 4 ของปี 65 ที่ผ่านจุดเลวร้าย ฟื้นตัวต่อในช่วงในไตรมาสแรกของปี 66 รวมถึงหุ้นที่อิงการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ 

แนะนำสัดส่วนการปรับพอร์ตถือหุ้นเดือน มี.ค. 66 

  • หุ้นไทย 30%
  • หุ้นต่างประเทศ 30%
  • ตราสารหนี้ 20%
  • ตลาดเงิน 10%
  • ตราสารลงทุนอื่น 10%

ภาพประกอบ สัดส่วนการปรับพอร์ต เดือน มีนาคม 2566

หุ้นเด่นเดือนมีนาคม 2566 ประกอบด้วย

  • บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) IVL ให้ราคาเป้าหมายที่ 52.00 บาท อัพไซด์ 41.5%
  • บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) BGRIM ให้ราคาเป้าหมายที่ 39.00 บาท อัพไซด์ 23.1%
  • บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) BLA ให้ราคาเป้าหมายที่ 42.00 บาท อัพไซด์ 32.3%
  • บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) JMT ให้ราคาเป้าหมายที่ 65.00 บาท อัพไซด์ 39.8%
  • บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) CRC ให้ราคาเป้าหมายที่ 55.00 บาท อัพไซด์ 22.9%
  • บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) CBG ให้ราคาเป้าหมายที่ 111.00 บาท อัพไซด์ 9.9%
  • บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) AP ให้ราคาเป้าหมายที่ 15.50 บาท 25.0%

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ในช่วงเดือน มี.ค. 66 ปัจจัยภายนอกที่นักลงทุนยังให้น้ำหนักคือตัวเลขเงิน เฟ้อสหรัฐ (เดือน ก.พ. 66) ที่จะประกาศในวันที่ 14 มี.ค. 66 รวมถึงแนวทางการรับมือเงินเฟ้อของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด 

หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด และยังมีความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความ รุนแรงมากขึ้นเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการกําหนดทิศทาง นโยบายการเงินในการประชุม ณ วันที่ 29 มี.ค. 66 ปัจจุบันตลาดคาดว่า เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้อีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5%

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย เดือน มี.ค. 66 ยังคงมีความท้าทายในกับ 3 กับดัก 

กับดักแรก เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่คาด โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ในรอบไตรมาส 4 ของปี 65 ขยายตัวเพียง 1.4% ซึ่งเติบโตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่ขยายตัว 7.6%, อินโดนีเซีย ขยายตัว 5.3% ส่งผลให้มูลค่า GDP ของไทยพลิกกลับมาต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 

กับดักที่สอง ตลาดหุ้นไทย รายงานงบไตรมาส 4 ปี 65 ออกมา 538 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน Market Cap 92% ลดลง 35%(QoQ) และ 45%(YoY) โดยเป็นการลดลงแรงจาก 13 Sector โดยเฉพาะ Sector ที่ขาดทุน คือ PETRO, STEEL, ICT, CONS 

กับดักที่สาม การปรับลดประมาณการกําไรปี 2566 ลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เป็น 1.12 ล้านล้านบาท ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% พร้อมดัชนีเป้าหมายอยู่ที่ 1,610 จุด

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นเหตุที่ทําให้ต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยหนักในเดือน ก.พ. 66 ถึง 1.2 พันล้านเหรียญ หรือ 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในภมูิภาค และยังเป็นเดือนที่ ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 หรือช่วงแรกของการเกิด COVID-19 

อย่างไรก็ตามในเดือน มี.ค.66 เชื่อว่า Fund Flow มีโอกาสชะลอการไหลออก หากมีประเด็นบวก เข้ามาเสริมเช่นความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง, การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือ เลื่อนกำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 29 มี.ค.66 ออกไป