ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 29มีนาคม2566ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงถูกจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่อาจรอติดตามผลการประชุม กนง. ในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย
ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม กนง. (เวลา 14.00 น.)
โดยหาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ จากเหตุผลเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นและมองอัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า ก็อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับแถว 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ หรือ
มีการส่งสัญญาณอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินสถานการณ์ เงินบาทก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก (มองว่าไม่ทะลุโซนแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์)
หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรทองคำ อีกทั้งผู้เล่นบางส่วนในตลาดต่างก็รอเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น) ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก)
ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.30 บาท/ดอลลาร์
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง นำโดยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Alphabet -1.4%, Meta -1.0%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.57%
ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนมีนาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.2 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (จาก CME FedWatch Tool)
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BofA -1.3%, Wells Fargo -0.8%) ท่ามกลางความกังวลว่า ทางการสหรัฐฯ อาจคุมเข้มภาคธนาคารสหรัฐฯ มากขึ้น หลังเกิดปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +1.3%, Chevron +1.2%) ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.45%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ (Adyen -4.1%, ASML -2.9%)
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +2.7%, Shell +1.4%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลว่าตลาดน้ำมันอาจเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.5 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง
ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้
โดยเฉพาะในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลงหรือเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ล่าสุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น ทว่าการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์
กอปรกับความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยหลบความผันผวนในช่วงนี้ ได้ช่วยให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้น จากโซน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,991 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ซึ่งเราคาดว่าการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงเวลา 14.00 น. โดยเราคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.75%
พร้อมกันนั้น กนง. อาจปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นจากการประชุมเดือนธันวาคม
ส่วนคาดการณ์ยอดการส่งออกอาจถูกปรับลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสอดคล้องกับรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่ยอดการส่งออกมีโอกาสหดตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.23-34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.35 น.) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ
อย่างไรก็ดี กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังค่อนข้างแคบ เนื่องจากตลาดอยู่ระหว่างรอติดตามผลการประชุมกนง. ในช่วงบ่ายวันนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้นหลังจากที่ตลาดเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ลงบางส่วน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.15-34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามผลการประชุมกนง. ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด พัฒนาการปัญหาของแบงก์ในสหรัฐฯ และยุโรป ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ