นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) UBE เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ทาง "UBE" มีรายได้รวม 1,499.2 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
โดยขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 26.2 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบมันสำปะหลังและปริมาณขายที่ลดลงของเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม และแป้งมันสำปะหลัง
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2566 ยังคงเป็นช่วงที่ท้าทายจากปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลัง และราคามันสำปะหลังทรงตัวในระดับสูง
พร้อมคาดการณ์สถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบจะคลี่คลายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เมื่อผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มเก็บเกี่ยว ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จะหนุนอุปสงค์ความต้องการใช้เอทานอล
อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสแรกปี 66 ถือดเป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูง และอุปทานมันสำปะหลังที่ลดลงมาก
ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงปลายปี 2565 ถือเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบกว่า 43 ปี
มีผลกระทบแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังโดยตรง ส่งผลให้อุปทานมันสำปะหลังในฤดูกาลนี้ลดลงกว่า 30%
โดยทาง UBE ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของธุรกิจเอทานอล ปริมาณยอดขายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงยังทรงตัวเนื่องจากได้อนิสงค์จากการเปิดเมืองและฤดูกาลท่องเที่ยว
นอกจากนี้มีแผนเพิ่มปริมาณการขายด้วยการผลักดันการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน อีกทั้งคาดการณ์ได้ผลบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้าไทยประมาณ 30 ล้านคนในปี 2566 จะเป็นแรงหนุนความต้องการการใช้เอทานอลในช่วงที่เหลือของปี
ด้านธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จึงได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ เพื่อนำเสนอฟลาวมันสำปะหลังไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของลูกค้า รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในประเทศ
ขณะที่ล่าสุดได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายแป้งทอดกรอบ ภายใต้แบรนด์ Tasuko ในร้านสะดวกซื้อต่างๆ แล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าเปิดรับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และฟลาวมันสำปะหลัง ให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ รองรับเป้ากลยุทธ์การก้าวสู่บริษัท Food Tech ในอนาคต
รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในด้านวัตถุดิบ ด้วยการเดินหน้า "โครงการ อีสานล่าง 2 โมเดล" บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สามารถบริหารจัดการแปลงมันสำปะหลังอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืน