ตามที่มีข่าวจากแหล่งข่าวต่างๆ เกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ของกองทุนภายใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด (บลจ.วรรณ ) ซึ่งมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น บลจ.วรรณ ขอเรียนชี้แจงสัดส่วนการลงทุน ณ ปัจจุบัน ดังนี้
ตราสารทุน : ปัจจุบันไม่มีการลงทุนในหุ้นของ STARK โดย บลจ.วรรณ ได้ทยอยลดสัดส่วนตั้งแต่ปลายปี 2565 และไม่มีสัดส่วนคงเหลือในพอร์ตตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.2566 ที่ผ่านมา
ตราสารหนี้ : ปัจจุบันมีการลงทุนในหุ้นกู้ STARK245A เพียงรุ่นเดียว ซึ่งมีมติจากการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 ให้ยกเว้นเหตุผิดนัดกรณีไม่ส่งแบบ 56-1 ทำให้ปัจจุบันสถานะของหุ้นกู้ดังกล่าวยังเป็นปกติ
ทั้งนี้ ปัจจุบันบลจ.วรรณ มีสัดส่วนหุ้นกู้ของ STARKทั้งหมด แค่เพียง 0.03% เมื่อเทียบกับ AUM ของบลจ.วรรณ
ทั้งนี้ บลจ.วรรณ ขอยืนยันให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมั่นใจได้ว่า เรายังคงติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและมิได้นิ่งนอนใจ โดยยังดำเนินการบริหารกองทุนด้วยความระมัดระวังมาโดยตลอด เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ ลงทุนต่อไป
อ่านเพิ่ม : บลจ.บัวหลวง แจงร่วมลงทุนในหุ้น STARK เล็กน้อย ไม่กระทบมาก
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย : KTAM ชี้แจงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ และหุ้น STARK ของกองทุนรวมภายใต้การบริหารของ บลจ.กรุงไทย ดังนี้
ตราสารหนี้ : KTAM ไม่เคยมีการลงทุนในตราสารหนี้ของ STARK เนื่องจากไม่อยู่ใน Universe ตราสารหนี้ของ KTAM
ตราสารทุน : KTAM ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน STARK ส่วนใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2565 และไม่มีการลงทุนในหุ้นทุน STARK นับตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.2566
ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) : มีสัดส่วนถือครองที่ไม่มีนัยสำคัญ (ซึ่งเป็นการได้มาตามสิทธิในอดีตโดยไม่มีต้นทุน)
สำหรับตัวเลขขาดทุนจากการลงทุนที่มีสื่อนำมาเปิดเผยนั้น ไม่ใช่ข้อมูลตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสมมุติฐานบนตัวเลขที่นักลงทุนสถาบันแต่ละแห่งได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 7 ต.ค.2565 ซึ่งไม่สะท้อนถึงสถานะพอร์ตการลงทุน ณ ปัจจุบัน (ที่มา : KTAM ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย.2566)
KTAM ขอยืนยันให้ผู้ลงทุกท่านมั่นใจว่า ทุกกองทุนภายใต้การจัดการของ บลจ. มีการจัดสรรเงินลงทุนที่ดี กระจายการลงทุนไปในตราสารที่หลากหลายโดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เน้นลงทุนในตราสารคุณภาพดีที่ผู้ออกมีความมั่นคง และมีสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ บลจ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะบริหารกองทุนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลักเสมอไป