นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทย ในไตรมาส 3/66 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ที่อยู่ในขั้นตอนเสนอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะผ่านไปได้ราบรื่นหรือไม่ โดยให้กรอบเคลื่อนไหวในไตรมาส 3 นี้ 1,500-1,600 จุด มองในกรณีที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคาดจะเกิดขึ้นในเดือนส.ค. แต่หากมีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง SET อาจหลุดแนวรับ 1,500 จุด ให้แนวรับถัดไปที่ 1,450 จุด แต่กรณีที่มีเหตุวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยด้วย SET ก็มีโอกาสถอยแนวรับที่ 1,400 จุด
ในไตรมาส 3/66 ปัจจัยการเมืองมีน้ำหนักอยู่มาก โดยประเด็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่แน่นอน เป็นช่วงที่ตลาดกังวล การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจดำเนินการหลายครั้งหากไม่ผ่าน หรืออาจมีโอกาสเปลี่ยนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล มาเป็นพรรคเพื่อไทย ก็อาจเกิดความวุ่นวายขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐปรับลงช้ากว่าที่คาด ขณะที่เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังอาจกลับมาขึ้นอีกก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บรรยากาศหุ้นต่างประเทศที่เดินหน้าขึ้นต่อเนื่อง จากความคาดหวังวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสำคัญ ๆ ของโลกใกล้สิ้นสุด ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบจำกัดจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นไทยที่ร่วง -6% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ vs ตลาดหุ้นโลกโดยเฉลี่ย (MSCI World Index) ที่ปรับขึ้น +12% กลับมาดูน่าสนใจขึ้นในฐานะตลาดที่ยัง Laggard และในเชิงปัจจัยเทคนิค
ตลาดหุ้นไทยหลุดอิทธิพลจากแนวโน้มแกว่งซิกแซกลงของปีนี้แล้ว หลังจากที่ SET Index สามารถทะลุขึ้นออกจากกรอบ "Trendline" ขาลงที่บริเวณ 1,545 จุดได้สำเร็จ มีแนวโน้มยกตัวขึ้นจากกรอบแกว่งเดิมที่ 1,520-1,545 จุด เป็น 1,540-1,575 จุด
อย่างไรก็ดี เรามองปัจจัยการเมืองในประเทศไม่แน่นอนสูง จากกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการสืบสวนไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนถึงให้ศาลมีคำตัดสินจะต้องใช้เวลานานหลายปี ทำให้คาดว่าการโหวตเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ จะไม่ราบรื่น และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้น เรายังคงคาดว่า SET Index คงไม่แกว่งไปไหนได้ไกลตราบใดที่ปัจจัยการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น
สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5-5.25% ตามตลาดคาด แต่ปรับระดับอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้ (Dot Plot) ขึ้นจากเดิม 5.1% เป็น 5.6% ซึ่งเป็นระดับ Terminal Rate บ่งชี้ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ซึ่งถือว่าเข้มงวด (Hawkish) กว่าที่ตลาดประเมินไว้ อิงจากคาดการณ์ของตลาดโดยผ่าน Fed Fund Futures ประเมินว่า FED จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกเพียง 1 ครั้งในเดือน ก.ค. ซึ่งแตกต่างจาก Dot Plot ของ FED อาจสะท้อนมุมมองของตลาดในแง่ดีเกินไป
ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป คือ แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ในเดือน พ.ค. ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 อยู่ที่ +4.0% YoY, +0.1% MoM ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +4.1% YoY, +0.1% MoM แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ +5.3% YoY, +0.4% MoM (ตลาดคาด +5.2% YoY, +0.4% MoM) ยังทรงตัวในระดับสูง vs จุดสูงสุดที่ +6.6% YoY ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ถือว่าเงินเฟ้อปรับลงช้า มองเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะลดลงแตะจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. ที่ระดับต่ำกว่า 4% เป็นเดือนสุดท้าย เนื่องจากผลกระทบฐานสูงในปีที่แล้วหมดไปก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจสร้างความกังวลแก่ตลาดได้
ส่วนมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเห็นการชะลอตัวมากขึ้น, เงินเฟ้อที่จะดีดกลับในครึ่งปีหลัง และการส่งสัญญาณที่เข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ FED จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ สะท้อนความคาดหวังเชิงบวกไปในระดับราคาหุ้นปัจจุบันมากแล้ว โดยคิดเป็น Fwd. PER ปีหน้าที่สูงถึงเกือบ 19 เท่า vs ค่าเฉลี่ยระยะยาวในอดีตที่ประมาณ 15-16 เท่า หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับมากกว่า +1SD
โดยสรุปช่วงนี้เราแนะนำใช้ในกรอบ SET Index 1,540-1,575 ในการเทรดดิ้ง-เก็งกำไรระยะสั้น ใช้กลยุทธ์ลงซื้อ-ขึ้นขาย โดยมี 5 ประเด็นหุ้นที่น่าสนใจระยะสั้นดังนี้