ยังคงร้อนแรงและน่าสงสัยในหลายประเด็น หลังจากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้แจ้งงบการเงินปี 2565 ต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีอย่าง บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด พบความผิดปกติในงบการเงินเป็นจำนวนมากในหลายประเด็น
โดยเฉพาะการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท ในปี 2565 และจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งกว่า 10,451 ล้านบาท
ทำให้มีคำถามตามมาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
หากดูจากการดำเนินคดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการกล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ผ่านมา
พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารบริษัท ในฐานเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 309 มาตรา 311 มาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
มาตรา 89/7 ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์ สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
มาตรา 281/2 กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัท ได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ากว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 307 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงาน ของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าว หรือทรัพย์สินที่นิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทําผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา 308 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของ นิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของนิติบุคคลดังกล่าวหรือซึ่งนิติบุคคล ดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา 309 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงาน ของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ เอาไปเสีย ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินอันนิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ถ้าได้กระทําเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา 311 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงาน ของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ กระทําการหรือไม่กระทําการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจําคุก ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา 312 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงาน ของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ กระทําหรือยินยอมให้กระทําการดังต่อไปนี้
(1) ทําให้เสียหาย ทําลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลดังกล่าวหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลดังกล่าว
(2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสําคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น หรือ
(3) ทําบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถ้ากระทําหรือยินยอมให้กระทําเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้น ขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดแม้ผู้กระทำ ความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
หากดูจากรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีของ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด จะพบว่า ความผิดปกติทางบัญชีในรายงานงบการเงินของ STARK และบริษัทลูกเกิดขึ้นมาก่อนหน้าปี 2564 และมีความผิดปกทางบัญชีมีมูลค่าสูงในปี 2564-2565เกี่ยวข้องกับ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ) บริษัท อดิสรสงขลา จํากัด (อดิสรสงขลา) บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ไทยเคเบิ้ล) และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามมา
คณะกรรมการและผู้บริหาร STARK 2564-2565
คณะกรรมการบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ปี 2565
คณะกรรมการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ปี 2565
คณะกรรมการ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปี 2565
หลังจากนี้ต้องติดตามว่า ก.ล.ต.จะดำเนินการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารในกลุ่ม STARK หรือไม่ และมีใครบ้างที่ต้องถูกดำเนินคดีแพ่ง และอาญากรณีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับงบการเงินของบริษัท