ส่องหุ้นสุ่มเสี่ยง Force sell ช่วงตลาดขาลง โบรกฯแนะเลี่ยงลงทุน

27 มิ.ย. 2566 | 23:55 น.

หุ้นใหญ่-เล็ก ยังมีสุ่มเสี่ยงถูก Force sell โบรกฯแนะ “เลี่ยงหุ้น” ที่วางเป็นหลักประกันเมื่อเทียบกับหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมด 20-50% หลังพบข้อมูลมีมากเกินกว่า 30 ตัวในตลาดหุ้น

ในสภาวะที่ตลาดหุ้นย่อตัวปรับลดลง รวมทั้งสภาพคล่องที่หดหายเริ่มแสดงให้เห็นในระยะนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าหุ้นที่ถูกวางเป็นหลักประกันของบัญชีมาร์จิ้นในระดับสูง หากราคายังลงต่ออาจการ "Force sell" ออกมาได้ในช่วงนี้ ทั้งหุ้นใหญ่ และหุ้นเล็ก

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ระบุว่า ภาพตลาดโดยรวมในระยะนี้ยังไม่สดใส อาจจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากสำหรับ หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่ถูกวางเป็นหลักประกันของบัญชีมาร์จิ้นในระดับสูง เนื่องจากหากราคาลงต่อ อาจเห็นโมเมนตัมของการ Force sell เกิดขึ้นจนเป็น Downward spiral ต่อตัวหุ้นได้

ทั้งนี้จากสภาพคล่องที่หดหายเริ่มแสดงให้เห็นในช่วงวันที่ 26 มิ.ย. 66 ในการปรับฐานของดัชนีหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่รุนแรงเช่น sSET และ mai ที่ปรับตัวลงอย่างละ 3.2% และ 3.8% ตามลำดับ

จากการตรวจสอบข้อมูลของ บล.ทรีนีตี้ ไปยังตลาดหลักทรัพย์ช่วงสิ้นเดือน พ.ค. 66 ที่ผ่านมา พบว่าหุ้นที่มีสัดส่วนของการวางเป็นหลักประกันเมื่อเทียบกับหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดมากกว่า 10% จะมีมากถึง 100 ตัวในตลาด โดยหากไม่จำเป็น แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นเหล่านี้ออกไปก่อน

สำหรับหุ้นที่มีสัดส่วนของการวางเป็นหลักประกันเมื่อเทียบกับหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมด 20-50% ประกอบด้วย

ระดับเกิน 50% ได้แก่ YGG, GPI

ระดับ 40-50% ได้แก่ TFG, SAAM, NRF, JSP, SCM และ PRIME

ระดับ 30-40% ได้แก่ SA, GLORY, OTO, KUN, A5, IP, BM, SFLEX, III และ SBNEXT

ระดับ 20-30% ได้แก่ DOD, NCL, DEMCO, SABUY, UKEM, CGD, AQUA, TAPAC, SAMART, APCS, THREL, CV, EE, COM7, FVC, PJW, BEYOND และ TAKUNI

โดยในระยะที่ผ่านมาช่วงเดือน มิ.ย. 66 ก็มีกรณีของหุ้น OTO หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายในหลักทรัพย์ OTO ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แจ้งข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายในหลักทรัพย์ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) (OTO)

ที่สภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระหว่างวันที่ 12-22 มิ.ย. 66 ว่า ราคาปรับลดลงมากเกิดจากการขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคล ทำให้เกิดการบังคับขาย (Force sell) ในเวลาต่อมา โดยสัดส่วน Short selling และ Program trading น้อยมาก

และยังแจ้งข้อเท็จจริงว่าปริมาณการ Short selling และ Program trading ในช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 66 ว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญไปจากช่วงก่อนหน้า

โดยเห็นได้จากตารางของ ตลท. จะเห็นได้ว่าช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 66 ราคาปรับลดลงรุนแรงถึง 89.07% จากระดับราคา 16.2 บาท ลดลงเหลือ 1.77 บาท และย่อตัวต่อมาที่ระดับ 1.41 บาท ในช่วง 23-26 มิ.ย. 66

ตารางชี้แจงข้อมูลการซื้อ-ขายหุ้น OTO ของ ตลท.

ประกอบกับรายงานข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2 ) ระบุถึงการจำหน่ายหุ้น บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 

โดย นายบุญเอื้อ จิตรถนอม ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ OTO จำนวน 21,067,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน  2.6558% ซึ่งเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ภายหลังการขายหุ้นดังกล่าวทำให้ นายบุญเอื้อ ยังถือหุ้น OTO ในจำนวน 76,264,799 หุ้น หรือ 9.6143% จากเดิมถือหุ้นจำนวน 97,331,799 หุ้น หรือ 12.2702% "ทำให้เป็นที่น่าจับตาว่าที่อาจเข้าข่ายการบังคับขาย (Force sell)"

อ่านเพิ่ม : OTO หุุ้นใหญ่อันดับ 1 "บุญเอื้อ จิตรถนอม"ตัดขายหุ้น 21.07 ล้านหุ้น รับ 60 ล้าน