บล.เอเซียพลัส ชี้ดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,480 จุด เหมาะทยอยซื้อสะสม

05 ก.ค. 2566 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 09:17 น.

“บล.เอเซียพลัส” ชี้ดัชนีหุ้นไทยหลุดระดับ 1,480 จุด น่าซื้อสะสมระยะยาว ลุ้นผลโหวตเลือกนายก รัฐบาลมีเสถียรภาพ ช่วยหนุน Fund Flow ไหลกลับดันดัชนีทะลุ 1,600 จุด ปัจจัยเสี่ยงยังมาจากภายนอกประเทศ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ทาง บล.เอเซียพลัส ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/ 66 ยังแกว่งผันผวน 

จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ที่มีโอกาสเกิดภาวะ Recession หลังจากธนาคารกลาง (FED และ ECB) ส่งสัญญาณชัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นดอกเบี้ย

ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ตลาดหุ้นไทยปรับลง 9.9% จนระดับ Valuation ในมิติของ Market Earning Yield Gap ลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 12 ปี ซึ่งถือว่าไม่แพง

เหมาะกับกลยุทธ์การลงทุน ในการทยอยสะสมหุ้น เมื่อระดับดัชนีหุ้นไทย ต่ำกว่า 1,480 จุด เลือกหุ้นพื้นฐานดี ราคาลงลึก พร้อมกับมีปัจจัยเฉพาะตัวคือ BEM, JMT, SCGP, SCB, IVL, ERW และ III

โดยแนะให้ "จัดพอร์ตลงทุน" ถือเงินสด 10-15% เพื่อเตรียมพร้อมเข้าซื้อหุ้นไทย หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ราบรื่นในกลางเดือน ก.ค. 66 โดยให้มีสัดส่วนหุ้นไทย 30% หุ้นต่างประเทศ 15% ตราสารหนี้ 10% และทางเลือก 10%

บล.เอเซียพลัส ชี้ดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,480 จุด เหมาะทยอยซื้อสะสม

สำหรับประเด็นการเมืองไทย มองว่า ช่วงกลางเดือนก.ค.นี้ หากเลือกนายก และจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น และรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการออกนโยบายที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าจะช่วนดึงดูด Fund Flow ให้ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย และในช่วงสิ้นปีอาจ แตะระดับ 1 แสนล้านบาท ทำให้มีโอกาสหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวทะลุ 1,600 จุด 

แต่หากออกมาในทางตรงกันข้ามจะถือเป็น ปัจจัยลบกลับมากดดัน ตลาดหุ้นอีกครั้ง มองเป้าดัชนี แนวรับ 1,480-1,542 จุด เพราะหลังจากโหวตประธานสภาฯได้แล้ว ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อย1,542 จุด และแกว่งทรงอยู่ระดับนี้ ถือว่าประเด็นทางการเมืองในประเทศ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาสนี้

ขณะที่เงินเฟ้อไทย เดือน มิ.ย.ที่ 0.23% ถือว่ายังต่ำมาก มีโอกาสที่การประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้อาจจะยังไม่ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพ และการเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างๆ ทั้งจากนโยบายการเงินที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯจาก 1.25% ช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปัจจุบัน 

รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังเกิดกรณี STARK ที่ส่งผลต่อ Fund Flow ต่างชาติไหลออกในปีนี้ 1.07 แสนล้านบาท กดดันตลาดหุ้นไทยปรับลง 9.9% Underperform สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 12.8% 

ด้านความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมาจาก ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของทั้ง FED และ ECB ที่เริ่มส่งผลมายังภาคเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป ทำให้เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

อีกทั้งยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% ทำให้ความเสี่ยง Recession ของสหรัฐ และยุโรป ยังจะไม่หมดไป แต่สวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริโภคในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว