ออกหมายจับ'ชนินทร์ เย็นสุดใจ'ผู้ต้องหา STARK หลังหนีออกนอกประเทศ

06 ก.ค. 2566 | 03:18 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 01:18 น.

ด่วน! ดีเอสไอ ออกหมายจับ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตประธานกรรมการ ผู้ต้องหาในคดี STARK หลังพบหนีออกนอกประเทศ หลังกบดานที่สิงคโปร์

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ออกหมายจับ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานบอร์ด บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK หลังพบการข่าวหนีออกนอกประเทศ

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  เปิดเผยว่า ดีเอสไอ ได้ออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังทางการข่าวทราบว่า นายชนินทร์ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศปลายทางเป็นประเทศสิงคโปร์ และดีเอสไอได้ขอศาลออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว 

ส่วนขั้นตอนถัดไประหว่างที่สำนวนคดีใกล้แล้วเสร็จจะประสานกับอินเตอร์โพล หรือองค์การตำรวจสากล เพื่อพิจารณาออกหมายแดงแก่นายชนินทร์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามยึด อายัดทรัพย์เพิ่มเติม โดยภายในสัปดาห์หน้าดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียก เลขานุการของนายชนินทร์ เข้ามาสอบเพิ่ม

 

ทั้งนี้ ดีเอสไอ ได้ออกหมายเรียก นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เข้ามารับทราบข้อหาและให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในวันนี้ ( 6 ก.ค.นี้ ) เวลา 10.30 น. เพราะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตภายใน STARK แต่ไม่มาตามนัด

ส่วนนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตซีเอฟโอ STARK  ล่าสุดได้ยื่นขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) จากวันที่ 7 ก.ค.66 ไปเป็นวันที่ 20 ก.ค.66

ขณะเดียวกัน วันนี้ ( 6 ก.ค. 66) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย 11,000 คน จะส่งผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดโดยพลัน

พร้อมได้ขอให้ดีเอสไอ ระงับการเดินทางไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวภายในวันที่ 6 ก.ค.66เป็นต้นไป และขอให้ DSI เร่งประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมด
 

 

ก่อนหน้านี้ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตซีเอฟโอ STARK ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ โดยเปิดรายชื่อ "บุคคลผู้ได้ประโยชน์"จากการตกแต่งบัญชี สามารถทำให้ขายหุ้นล็อตใหญ่ได้เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ STARK ได้ให้ข่าวว่าเป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบริหาร เพราะได้ยกอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารกิจการให้กับ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ จนก่อให้เกิดข้อกังขาว่าในเมื่อนายวนรัชต์ เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีด้วยการขายหุ้นล็อตใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาททำไมเขาจึงเป็นเพียงผู้เสียหาย 

ล่าสุดวันนี้ ( 6 ก.ค.66 ) สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว

กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

รายชื่อบุคคล-นิติบุคคลรวม 10 ราย มีดังนี้

(1) บริษัท STARK
(2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ
(3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
(4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี
(5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
(6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม
(7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
(8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
(9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 
(10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด