สิทธิเรียกร้องของผู้ลงทุน - ใครบ้างต้องรับผิด หากบริษัทเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

12 ก.ค. 2566 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 02:01 น.

ก.ล.ต.ชี้ช่อง การใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ลงทุน กรณีบริษัทเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ลงทุนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ จำนวนเงินเท่าไร ต้องดำเนินการฟ้องภายในกี่ปี และมีใครบ้างต้องรับผิด หาคำตอบได้ที่นี่

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ การใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ลงทุน กรณีบริษัทเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งในสาระสำคัญ 

กระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนทั่วไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) กำหนดให้บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยหลักการสำคัญคือ ต้องเปิดเผยที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่เป็นเท็จ และไม่ปกปิดข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุนของบริษัทสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ 

1) การเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ โดยบริษัทที่ออกหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยบริษัทจะสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ได้ต่อเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว (มาตรา 65) โดยแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนจะมีข้อมูลสำคัญ เช่น วัตถุประสงค์การเสนอขาย ลักษณะการประกอบธุรกิจ ฐานะทางการเงิน ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นต้น

2) การเปิดเผยข้อมูลภายหลังจากการเสนอขายหลักทรัพย์ บริษัทก็ยังคงมีหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ลงทุน (มาตรา 56) เช่น งบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน หรือ รายงานประจำปี เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบรายละเอียดข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ลงทุนประกอบการตัดสินใจลงทุน 
 

การเปิดเผยข้อมูลของบริษัททั้ง 2 ช่วง บริษัทจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลที่เปิดเผย เนื่องจากหากปรากฎข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ บริษัทอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นโทษทางอาญา ที่มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ โดยหากเป็นกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนการออกเสนอขายเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ได้เสนอขาย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท (มาตรา 278) แต่หากเปิดเผยข้อมูลภายหลังการเสนอขายเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 281/10)

ในกรณีที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรต้องแจ้งในสาระสำคัญนั้น นอกจาก ก.ล.ต. จะมีการดำเนินการในความผิดข้างต้นแล้ว ผู้ลงทุนเองก็มีสิทธิที่จะสามารถฟ้องร้องกับผู้กระทำความผิดเพื่อเรียกค่าเสียหายจากความผิดที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้เช่นกัน ดังนี้ 

 

สิทธิเรียกร้องของผู้ลงทุน - ใครบ้างต้องรับผิด หากบริษัทเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

 

• กรณีเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง 

 

ในกรณีที่แบบแสดงรายการหรือหนังสือชี้ชวนมีข้อความเป็นเท็จ หรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญจนเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนเสียหาย ผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของหลักทรัพย์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทได้หากความเสียหายนั้นเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลไม่ถูกต้อง (มาตรา 82) ซึ่งค่าเสียหายที่ผู้ลงทุนสามารถฟ้องร้องได้ในกรณีนี้ จะเท่ากับจำนวนส่วนต่างของจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนได้จ่ายไปสำหรับการได้มาซึ่งหลักทรัพย์นั้น กับราคาที่ควรจะเป็นหากมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ของหลักทรัพย์นั้น บวกด้วยดอกเบี้ยของจำนวนส่วนต่างสำหรับระยะเวลาที่ถือหลักทรัพย์นั้นด้วย (มาตรา 85)

ไม่เพียงแต่บริษัทเท่านั้นที่ต้องรับผิด แต่กฎหมายยังกำหนดให้บุคคลที่ร่วมลงลายมือชื่อรับรองข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนต้องร่วมรับผิดกับบริษัทด้วย ได้แก่ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่ลงลายมือชื่อไว้ในแบบแสดงรายการและหนังสือชี้ชวน รวมไปถึงผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน ที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและลงลายมือชื่อรับรองข้อมูลในแบบแสดงรายการและหนังสือชี้ชวนด้วย ยกเว้นแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดดังกล่าว (มาตรา 83)

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนจะต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าแบบแสดงรายการและหนังสือชี้ชวนมีข้อความหรือรายการที่เป็นเท็จหรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้ง แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่แบบแสดงรายการและหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ (มาตรา 86)

• กรณีข้อมูลที่เปิดเผยหลังการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง

ในการเปิดเผยข้อมูลภายหลังจากการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ หากพบว่าข้อมูลงบการเงิน รายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน หรือรายงานประจำปี มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงในสาระสำคัญจนเกิดความเสียหาย ผู้ลงทุนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทได้เช่นกัน (มาตรา 89/20) ในกรณีนี้ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจะต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทด้วย ยกเว้นแต่กรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวจะพิสูจน์ได้ว่าโดยตำแหน่งหน้าที่ของตนไม่อาจรู้ถึงความถูกต้องของข้อมูลหรือการขาดข้อมูลที่ต้องเปิดเผยนั้นได้ โดยผู้ลงทุนต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ผู้ลงทุนรู้ถึงการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จหรือการปกปิดข้อมูลที่ควรเปิดเผยนั้น หรือไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มีการกระทำนั้น

นอกจากผู้ลงทุนจะสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้แล้ว ผู้ลงทุนก็ยังสามารถดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (มาตรา 94) เป็นต้น  

จะเห็นได้ว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นที่เกิดจากการเปิดข้อมูลที่เป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงในสาระสำคัญ นอกจากการดำเนินการโดย ก.ล.ต. แล้ว ผู้ลงทุนเองก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายควบคู่กันไปเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์และบุคคลอื่น ๆ ที่ต้องร่วมรับผิดด้วยได้ ดังนั้น หากได้รับความเสียหายจากเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ผู้ลงทุนจึงควรดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงอายุความที่กฎหมายกำหนด