"AQUA" แจ้งความ "ทันหุ้น" นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

18 ก.ค. 2566 | 09:00 น.

"AQUA" ลุยแจ้งความร้องทุกข์ กองบังคับการปราบปรามฯ กรณี "ทันหุ้น" นำข้อมูล “TPL” อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์กระทบชื่อเสียงนักลงทุน-ผู้ถือหุ้น กว่า 5,000 ราย

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA พร้อมนางสาวณัชชา ผ่องไพบูลย์ ทนายความ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท ทันหุ้น จำกัด (“ทันหุ้น”) และพวก

\"AQUA\" แจ้งความ \"ทันหุ้น\" นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

โดยข้อมูลที่ได้พบว่า มีผู้ที่ถูกกล่าวหาและอาจอยู่ในข่ายถูกดำเนินคดีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาหลายรายประกอบด้วย

1. บริษัท ทันหุ้น จำกัด (“ทันหุ้น”)

2. นางสาวลลนา ศิริจรรยากุล กรรมการบริษัท

3. นางสาวศรวณีย์ ศิริจรรยากุล กรรมการบริษัท

4. นายบุญมี อ่อนน้อม บรรณาธิการบริหาร

5. นายเฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา บรรณาธิการออนไลน์ และผู้ดำเนินรายการทีวีออนไลน์

6. นางพุทธิธาดา ศิรินันทวิทยา บก.MAI และรองบรรณาธิการ

7. นางสาวณัฎฐ์ชญา ปุริมปรัชญ์ภัทร นักข่าว

\"AQUA\" แจ้งความ \"ทันหุ้น\" นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ข้อหาที่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนั้น บจ.ทันหุ้น ได้มีการนำข้อมูลที่เป็นเท็จพาดหัวข่าวที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อเว็บไซต์ออนไลน์,การจัดรายการผ่าน Youtobe, เฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก ถือเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ (พ.ร.บ.คอมฯ)

นายชัยพิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาแจ้งความร้องทุกข์ในครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางทันหุ้นและผู้เกี่ยวข้อง ได้ลงข้อความในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ซึ่งได้อ้างอิงบทความของนายพงษ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี 1 ในผู้ถือหุ้นดั้งเดิมของ “TPL” หากแต่เติมข้อความอันเป็นเท็จ และบิดเบือนจากความจริง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้น TPL กว่า 5,000 ราย รวมถึงบริษัท AQUA

\"AQUA\" แจ้งความ \"ทันหุ้น\" นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้การนำเสนอข่าวของทันหุ้นดังกล่าว ทำให้บริษัท AQUA ได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านการลงทุนและชื่อเสียง ปัจจุบันบริษัท AQUA ถือหุ้นใน TPL จำนวนกว่า 140 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นกว่า 26% จึงเป็นเหตุได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท.

“บริษัทได้เข้าให้ปากคำ อ้างอิงถึงพยานเอกสาร พยานบุคคล บันทึกแชทไลน์ รวมถึงใบเสนอราคาโฆษณาที่อาจเชื่อได้ว่าเป็นมูลเหตุจูงใจการกระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวน คาดว่าพนักงานสอบสวนจะเริ่มการสืบสวนสอบสวนผู้ถูกล่าวหา รวมถึงเรียกพยานผู้เกี่ยวข้องทุกรายเข้ามาให้ปากคำในลำดับต่อไป "

\"AQUA\" แจ้งความ \"ทันหุ้น\" นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

 นายชัยพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางบริษัท AQUA พร้อมดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด เพื่อให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักลงทุนที่สุจริตกล้าลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพ เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยและวงการสื่อมวลชนไทย

 ทั้งนี้ยังมีข้อมูลหลักฐานอีกพอสมควร ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจส่งมอบให้พนักงานสอบสวน ส่วนจะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมได้เมื่อไรนั้นคงต้องรอให้ทางตำรวจเป็นผู้สอบสวนต่อไป

"เหตุการณ์นี้บริษัทฯอยากสร้างบรรทัดฐานของสื่อ เราเชื่อว่าสื่อทุกท่านมีจรรยาบรรณสื่อและมีการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่การนำข้อมูลบิดเบือนมานำเสนอข่าว จนสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน"

สำหรับข้อกล่าวหาของคดีนี้ ถือเป็นคดีความที่มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับทั้งเป็นคดีอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้ แต่อย่างก็ตาม การร้องทุกข์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางกฎหมายซึ่งทันหุ้นและผู้เกี่ยวข้อง ที่มีชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทั้งหมดยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ และมีสิทธิที่จะพิสูจน์ตนเองเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อไป