ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังตลาดมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์นี้ ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจไม่ได้ส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟด รวมถึงทิศทางราคาทองคำมากนัก แต่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน เงินดอลลาร์และราคาทองคำได้
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางราคาทองคำครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามหลายเรื่อง นอกจากความผันผวนจากปัญหาวิกฤตธนาคารทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว ยังมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก จะทำให้ราคาทองคำปรับลดลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำช่วงต้นปีปรับตัวเพิ่มจากสิ้นปีก่อนโดยเฉพาะในเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา แต่หลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นทำให้ราคาทองคำปรับลดลง
“ปีนี้ครึ่งแรกกำลังซื้อทองคำลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนและมีแนวโน้มลดลงในครึ่งหลัง แต่ช่วงสั้นๆ ยังมีลูกค้าซื้อบ้าง ขณะที่ตลาดประเมินราคาทองคำว่า มีโอกาสปรับลดลงเหลือ 1,850 ดอลลาร์/ออนซ์ และมีโอกาสจะปรับขึ้นกว่าระดับ 2,000ดอลลาร์/ออนซ์”นายจิตติกล่าว
นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทแม่ทองสุกกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า จะเป็นช่วงขาขึ้นในปลายปีนี้ โดยทิศทางราคาทองคำช่วงไตรมาส 3-4 ต้องดูนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งยังขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐได้ทยอยปรับลดลง จากกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายต้องอยู่ที่อัตรา 2%
ขณะที่อัตราว่างงานในสหรัฐสูงขึ้น ทำให้มุมมองนักวิเคราะห์เปลี่ยนไปโดยคาดว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง น่าจะขึ้นได้อีกไม่เกิน 1 ครั้งเป็น 5.50% และโอกาสจะปรับขึ้นหลังจากนั้นน้อยมาก ซึ่งราคาทองคำจะกลับมาเป็น Bullish Trend (ตลาดกระทิง)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในอีก 5-6 เดือนข้างหน้าคืิอ 1.แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะปรับลดลงเร็วแค่ไหน 2.ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดจะหยุดหรือยังขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง และ 3.ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) ซึ่งตอนนี้ทะยอยปรับขึ้นบ้าง แต่เริ่มชะลอลงตามทิศทางดอกเบี้ยเฟด
นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เห็นชัดเวลานี้คือ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) อ่อนค่าลง โดยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สูงสุด 138 จุด เมื่อ 6 สัปดาห์ที่แล้ว เงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะเป็นขาลงหรืออ่อนค่าหลังหลุด 101 จุดลงมา เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาชะลอตัว
ดังนั้น จึงมองว่า 2 ไตรมาสที่เหลือ (ไตรมาส 3 และ 4) ของปีนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนตัวลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐน่าเริ่มอ่อนแอ ซึ่งในที่สุด สหรัฐฯอาจต้องเพิ่มเพดานหนี้หรือคาดว่า จะออกพันธบัตร (กู้ยืมเงิน) เพิ่มอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ราคาทองคำในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ซึ่งโอกาสที่ราคาทองคำจะขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเดิมที่ 2,070 ดอลลาร์/ออนซ์ น่าจะเป็นไปได้ เพราะขณะนี้้ห่างกันอยู่ประมาณ 110 ดอลลาร์หรือ 5% ซึ่งถือว่า เยอะมาก
“ภาพหลักมองปลายปีหรือต้นปีหน้า มีโอกาสที่ราคาทองคำจะทดสอบระดับสูงสุดเดิมหรือทะลุ 2,070 ดอลลาร์/ออนซ์ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ 1.เรื่องการหยุดดอกเบี้ยของเฟด (ดอกเบี้ยเฟดทรงตัว) คือ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งเดียว 2.ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอ โดยนักวิเคราะห์มองว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะถดถอยในปีหน้า
ขณะที่ราคาทองคำในประเทศน้ำหนัก 1 บาททองคำ ราคาขายออกอยู่ที่ 32,000บาท ถ้าราคาทองปรับขึ้น 100 ดอลลาร์หรืออยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์/ออนซ์ ราคาทองจะปรับขึ้น 1,500 บาท หากหักเงินบาทที่แข็งคาดว่า จะราคาทองคำโดยรวมจะขยับขึ้น 1,000 บาททำให้ราคาทองคำแตะระดับ 33,000 บาท
ในแง่กำลังกำลังซื้อในประเทศที่ทรงตัวหรือชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวว่า กำลังซื้อปรับลดลงไป 10% สอดคล้องกับราคาทองคำช่วงสองเดือนที่ผ่านทรงตัว แต่แนวโน้มหลังจากนี้ราคาทองคำกำลังจะเป็น “ขาขึ้น”
ส่วนกำลังซื้อทองตู้แดงชะลอลง เพราะเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวนัก ขณะที่ทองคำแท่งนั้น ประชาชนเริ่มออมและลงทุนในทองคำมากขึ้น เพียงแต่ตอนนี้เป็นจังหวะ SLOW แต่แนวโน้ม 2 ไตรมาสที่เหลือ กำลังซื้อเพื่อการลงทุนจะค่อยๆ ซื้อสะสมกัน ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่กำลังซื้อจะกลับมาช่วงปลายปีนี้
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566