เส้นทางการเงินหลังเกิดเรื่องคดีหุ้นของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" แม้ผลการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะยังไม่มีระบุชัดเจนถึงเส้นทางการเงินใน STARK
แต่ยอมรับว่า มีในการตรวจสอบพบการโอนเงินออกนอกประเทศ โดย DSI จะต้องดูให้ครบรอบทุกด้านและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทางการข่าวได้รับรายงานถึงการโยกย้ายเงินออกนอกประเทศ
คืบหน้าคดี "STARK" ก.ล.ต. ย้ำอยู่ในขั้นตอนเอาผิด ผู้กระทำความผิดชุดที่สอง
รวมถึงตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ STARK ได้จ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้า 10,451 ล้านบาท โดยยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากยังอยู่ในชั้นการสอบสวน
เปิดเส้นทางโอนเงิน
จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานตรวจสอบพบว่า หลัง บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PwC) ผู้สอบบัญชีตรวจสอบพบ พฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงานของ STARK และส่งหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจสอบ STARK ทราบเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้ STARK แจ้งส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า
จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้น STARK ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ปรากฎว่า "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตประธานกรรมการ STARK ได้ทยอยถอนเงินที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร เครดิต สวิส "Credit Suisse" ออกไปกว่า 1,400 ล้านบาท เหลือเงินติดบัญชีเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือน กุมภาพันธ์ 2566 ที่มียอดเงิน 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินของ นายชนินทร์ ที่เปิดไว้กับ ธนาคาร เครดิต สวิส พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน 2566 พบว่า มีการถอนเงินจากบัญชี 4 ครั้ง รวมวงเงินกว่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคิดเป็นเงินไทยจะมีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท ดังนี้
องค์กรกำกับทำงานล่าช้า
ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) รายหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโอนเงินว่า ช่วงเวลาที่มีการถอนเงิน Credit Suisse ทราบหรือไม่ว่า STARK มีปัญหาการตกแต่งบัญชี และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ หากทราบแล้ว ยังปล่อยให้มีการถอนเงิน Credit Suisse อาจเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือหรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบในประเด็นนี้
รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ทำไมถึงปล่อยให้มีการโอนเงินเหล่านี้ออกไป
โดยไม่มีการรายงานเข้ามา และมีการท้วงติงหรือไม่เมื่อเรื่องเกิดปัญหา ขณะที่การดำเนินการกำกับดูแลในเรื่องต่างๆล่าช้าเกินไป หรือไม่
นอกจากนี้ ข้อสังเกตของผู้จัดการกองทุนยังระบุอีกว่า หากย้อนดูพฤติกรรมการโอนเงินของสถาบันการเงิน ที่มีวงเงินสูงเป็นจำนวนมากของทาง Credit Suisse ธนาคารได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ (negligent) ทำให้เกิดความเสียหาย และต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง ก.ล.ต. และ ตลท. รวมทั้ง แบงก์ชาติ จะต้องหาคำตอบ หรือช่องทางการฟ้องร้องเรียกความเสียหายให้ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย
รวมทั้ง ผู้จัดการกองทุนยังสังสัยว่า หากจะพูดถึงเรื่องการโอนเงินที่มีมูลค่าสูงระดับ 1,000 ล้านบาท คงเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการได้หากไม่มีคนวงในเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยมุมมองของผู้จัดการกองทุน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ต้องมีผู้ที่เกี่ยวพัน และให้ความช่วยเหลือ ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง จึงจะสามารถดำเนินการ และอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้
เพราะการจะโอนเงินเป็นจำนวนมากจะต้องมีการแสดงหลักฐานที่ชัดเจนในการลงทุน หรือวัตถุประสงค์ในการนำเงินออกนอกประเทศตามกฎระเบียบที่ได้มีการระบุไว้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ทาง ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ STARK กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อ DSI กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564-2565
เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่า มีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK
การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงและทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สำหรับ 10 รายที่ถูกกล่าวโทษ ประกอบด้วย (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด