นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้สอนวิชากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS และเป็นที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ถือหุ้นกู้ "STARK" แสดงความเห็นเรื่องนี้กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากพิจารณาข้อกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ
เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เห็นว่า หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
กฎหมายให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวได้ หากใครทำขัดแย้งย่อมมีโทษ หรือกรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 กำหนดอำนาจคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน
หากมีผู้เกี่ยวข้องทำทำลาย ซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหาย ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใดๆ ที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้สั่งอายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็มีโทษอาญาจำคุกหรือปรับ
ประเด็นที่ตามมาก็คือ ณ วันที่มีการถอนโอนย้ายเงินดังกล่าวได้มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะที่ผูกพันต่อธนาคารที่เกี่ยวข้องหรือไม่
หากไม่มีคำสั่งเฉพาะและทางธนาคารอ้างว่า ไม่อาจยับยั้งคำสั่งการถอนโอนย้ายเงินดังกล่าว ก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายทั่วไป
ซึ่งต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาลว่า ธนาคารได้จงใจ (wilful) หรือประมาทเลินเล่อ (negligent) ให้เกิดความเสียหายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
ที่ผ่านมามีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ศาลมองว่า ธนาคารไม่ตรวจสอบลายมือชื่อทำให้มีการถอนเงินไปไม่ถูกต้อง เป็นความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง และฝีมือตามสมควรจะเป็นอาชีวะของธนาคารศาลจึงมองว่าธนาคารผิด
กรณีที่เกิดขึ้นกับ "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" อาจต่างกัน เพราะเจ้าตัวอาจถอนโอนจริงไม่มีการปลอมแปลง แต่กระนั้นหาก ณ เวลาการทำธุรกรรม เกิดกรณีข่าวครึกโครมใหญ่โต รู้ไปทั่วสังคม อีกทั้งธุรกรรมเงินจำนวนมหาศาลเป็นที่สมควรต้องระมัดระวัง ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายนำสืบต่อสู้กันต่อไปได้
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่า เจ้าพนักงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนั้นได้ละเลยหน้าที่ดำเนินการช้าออกคำสั่งไม่ทันการหรือไม่ พร้อมต้องดูเรื่องการประสานงานความร่วมมือทางอาญากับหน่วยงานต่างประเทศด้วย