จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ( 27 ก.ค.66) มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมโครงการแอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN
ส่งผลต่อราคาหุ้น ANAN จากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 บวก 14% ปิดที่ 1.14 บาท และเป็นระดับราคาสูงสุดของวัน เนื่องจากนักลงทุนเก็งกำไร ลุ้นศาลฯพิพากษาหากออกมายกฟ้อง แต่บ่ายของวันรุ่งขึ้น ( 27 ก.ค.66 ) หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ที่ 0.80 บาท ลดลง 0.34 บาท หรือลดลง 29.82% ก่อนมาปิดที่ราคา 0.84 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือลดลง 26.32% มูลค่าซื้อขายราว 160.34 ล้านบาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 1.14 บาท และต่ำสุด 0.80 บาท
"ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของหุ้น ANAN พบว่าล่าสุด ( 27 ก.ค.66 ) อยู่ที่ 3,499.65 ล้านบาท ลดลง 1,249.88 ล้านบาท จากมูลค่า 4,749.53 ล้านบาท ( 26 ก.ค.66 ) และลดลง 42.07% จากสิ้นปี 65 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ ฯ 6,041.06 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการสำรวจหุ้น ANAN ที่ถือโดยกลุ่ม " เรืองกฤตยา " รวมกัน 48.27% ณ วันที่ 27 ก.ค.66 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,689.28 ล้านบาท ลดลง 602.84 ล้านบาท จากระดับ 2,292.12 ล้านบาท ( 26 ก.ค.66 ) และลดลง 1,226.74 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 65 ที่มูลค่าพอร์ตของกลุ่ม 2,916.02 ล้านบาท
รายชื่อผู้ถือหุ้น ANAN โดยบุคคลในตระกูล "เรืองกฤตยา" มูลค่ารวม 1,689.28 ล้านบาท มีดังนี้
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ขอเรียนให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ 1, ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ที่ 2, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3, ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4, คณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5, (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท) ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีหมายเลขดําที่ อส.67/2564 หมายเลขแดงที่ อส. 188/2566
กรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นสำคัญที่ว่า ที่ดินของ รฟม. ไม่อาจนำมาให้บริษัทฯ หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
บริษัทเห็นว่าศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อวางแนว หรือสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้ง ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึง ฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติ หรืออนุญาตให้ผู้ใดทำการได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
เปิดคำพิพากษาคดีถอนคอนโดหรู แอชตัน อโศก ผู้ว่า กทม. ผอ.โยธา รฟม. ผิดกราวรูด
เรียกร้องหน่วยงานรัฐร่วมรับผิดชอบ เยียวยา
โดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อำนาจและหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำการเยียวยาในความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
ดังนั้น ผลแห่งคำพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัท เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรกซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท โดยเร็ว รวมทั้งบริษัทจะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลของแอชตัน อโศก และท่านเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน (สิบสี่) นับแต่วันนี้
บริษัทใคร่ขอยืนยันว่า การทำโครงการแอชตัน อโศก นั้น ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่างๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม อีกทั้ง การพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการต่างๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ และภายใต้การกํากับ ควบคุมจากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน
จึงเป็นที่เห็นประจักษ์และยืนยันได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริต และชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจนแล้วทุกประการเท่าที่บริษัทจะทำได้ด้วยความเชื่อถือโดยสุจริตว่าการอนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว บริษัทจึงใคร่ขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ที่ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย
ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการหารือ และประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไข โดยบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าในรายละเอียดผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเช้าวันจันทร์ ที่ 31 กรกฎาคม 2566
"แอชตัน อโศก" ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน)หรือ ANAN เป็นโครงการคอนโดมีเนียม 50 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6,480 ล้านบาท ปัจจุบันได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปแล้วถึง 87% โดยมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 580 ครัวเรือน เป็นคนไทย 438 ราย และต่างชาติจาก 20 ประเทศอีก 142 ราย