จากกรณี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการคอนโด แอชตัน อโศก ตามคำฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1),ผู้อำนวยการสำนักการโยธา(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2),ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3), ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ,คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และ บริการชุมชน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด
โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในประเด็น สำคัญ ที่ว่า ที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนำมาให้บริษัท ฯ หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เฟซบุ๊ก วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ (Verapat Pariyawong) นักกฎหมายอิสระ ได้ตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ว่า ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่เสียงข้างมากนำมาวินิจฉัยคือ ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการที่มาและเงื่อนไขของการออกเอกสารเกี่ยวกับการใช้ที่ดินและการก่อสร้างโครงการ
ไม่ใช่เพียงแต่ประเด็นขนาดของทางออกสู่ถนนสาธารณะ และศาลได้มีความกังวลว่าขนาดพื้นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้และหากมีกรณีเพลิงไหม้จะก่อให้เกิดภัยอันตรายร้ายแรง พร้อมระบุว่า ข้อน่าสนใจคือในที่ประชุมใหญ่มี ตุลาการ เสียงข้างน้อย 19 ท่านที่เห็นแย้ง โดยเล็งเห็นถึงความสุจริตของประชาชนผู้ซื้อ และเป็นเจ้าของห้องชุดคอนโดในโครงการ
ตุลาการเสียงข้างน้อยจึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขผลคำพิพากษาให้มีเวลา 270 วัน สำหรับฝ่ายราชการที่ดำเนินการผิดพลาดไปดำเนินการขออนุญาต คณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ในขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 1 ท่าน เห็นว่าการดำเนินการได้ทำโดยถูกต้องแล้ว
นายวีรพัฒน์ ตั้งคำถามต่อไปว่า เหตุใดศาลปกครองเสียงข้างมาก จึงไม่ใช้วิธีการตามแนวทางของเสียงข้างน้อย 19 เสียง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและไม่ต้องเกิดคำถามหรือความวิตกกังวลเรื่องการทุบทำลายโครงการที่จะส่งผลกระทบตามมาต่อประชาชนผู้ที่สุจริต หรือต้องเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นภาระต่อประชาชนตามมา