สัญญาณ “หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้” ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงที่เหลือของปี 2566 ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ณ วันที่ 31 ส.ค. 2566 หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment : DP ) ถึงวันนี้มีทั้งสิ้น 7 บริษัท จำนวน 23 รุ่น มูลค่ากว่า 19,030 ล้านบาท ประกอบด้วย
ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) จำนวน 1 รุ่น โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้ขึ้นเครื่องหมาย IC ( : Investor Caution ) เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 เพื่อแจ้งให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้ของ JKN และวันที่ 1 ก.ย.66 เมื่อบริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ตามกำหนดทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย จึงขึ้นเครื่องหมายผิดนัดชำระหนี้ (DF) จำนวน 1 รุ่น "JKN239A" และเกิดเหตุครอสดีฟอลต์อีก 6 รุ่นที่เหลือ
เกาะติด“ไฮบอนด์ยีลด์" 2.38 หมื่นล้านครบไถ่ถอน
นายรุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการ Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่ตลาดหุ้นกู้ไทย เริ่มส่งสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มในปีนี้ ได้ส่งผลต่อ Sentiment ตลาดหุ้นกู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม High Yield หรือ Non Rating ที่มีอันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB- รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต จะขายได้น้อยกว่าที่จดทะเบียนไว้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจะ Rollover ที่จะครบกำหนด และส่งกระทบกับสภาพคล่องของบริษัท หากไม่มีแหล่งเงินทุนสำรอง ก็ต้องยิ่งเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ลงทุน ทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุนการเงินที่แพงขึ้น หากหนี้สินมีระดับสูง
ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่าในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.66) หุ้นกู้ไฮบอนด์ยีลด์หรือนอนเรตบอนด์ที่จะครบกำหนดมีประมาณ 23,825 ล้านบาท จากหุ้นกู้ทั้งหมดที่ครบมูลค่า 217,095 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
"ยอดคงค้างหนี้ กลุ่ม High Yield หรือ Non Rating คิดเป็นสัดส่วน 5% เทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ทั้งระบบ และหากวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินไตรมาส 2/2566 พบว่า 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีความความสามารถในการชำระหนี้ตํ่า ได้แก่ 1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง , 2.กลุ่มธุรกิจการเกษตร และ 3.กลุ่มของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ก่อหนี้สูง และคาดจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง" นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ฐานเศษฐกิจ” ว่า หากมองในภาพรวมถือได้ว่าตลาดหุ้นกู้ มีต้นทุนปรับขึ้นสอดคล้องกับพันธบัตรรัฐบาล แต่ในส่วนของการขาย หุ้นกู้ที่มีเรทติ้งสูงยังพอขายได้ แต่ถ้าตํ่าลงมาเริ่มเห็นภาพของการขายที่ไม่ครบจำนวนตามวงเงินที่ตั้งใจระดมทุน
“ในช่วงที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีเครดิตถือได้ว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แม้จะมีปัญหาในหุ้นกู้ STARK ก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดไม่ได้ตกใจกับปัญหาดังกล่าวจนถึงขั้นเทขายทิ้งหุ้นกู้ออกมา เพราะนักลงทุนในตลาดมีความรู้ความเข้าใจสามารถแยกแยะออกว่า เป็นเหตุการณ์เฉพาะรายบริษัท”
สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าเอกชนจะระดมทุนออกหุ้นกู้ไม่ตํ่ากว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และเป็นทุนหมุนเวียนขยายธุรกิจ จากต้นปีเป็นต้นมา (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค.2566 ) เอกชนออกหุ้นกู้แล้วประมาณ 707,073 ล้านบาท
จับตาหุ้นกู้ JKN 7 รุ่น กว่า 3.3 พันล้านบาท
“ฐานเศรษฐกิจ”ได้รวบรวม หุ้นกู้กลุ่มที่มีปัญหา ในช่วง 8 เดือนปี 2566 เริ่มตั้งแต่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) มูลหนี้ 9,198.4 ล้านบาท, บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ( ALL) มูลหนี้ 2,334.2 ล้านบาท
ในส่วนหุ้นกู้ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ หลังได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้แล้ว อาทิ บมจ.ช ทวี (CHO) มูลหนี้คงค้าง 1,018 ล้านบาท เลื่อนจ่ายจากกลางปี 2566 เป็นกลางปี 2568, บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์( CGD )หุ้นกู้ 2 ชุด (CGD219A และ CGD 20OA) บริษัทฯแบ่งจ่ายหนี้บางส่วนก่อน 30 % ส่วนที่หนี้ 2 รุ่นที่เหลือรวม 670 ล้านบาท เลื่อนจ่ายเป็นปี 2567
ล่าสุดกรณี บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) แจ้งขอผ่อนผันหนี้หุ้นกู้รุ่น “JKN 239A” ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 ก.ย. 66 โดยจะขอชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ยบางส่วนก่อน 158.03 ล้านบาท จากมูลหนี้เงินต้นบวกดอกเบี้ยที่ครบ 609.98 ล้านบาท และคงเหลือยอดหนี้หุ้นกู้ค้างชําระ 451.95 ล้านบาท นัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 27 ก.ย.นี้ เพื่อขอผ่อนผันปรับแผนชำระหนี้
JKN ออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 7 ชุด วงเงินต้นรวม 3,360.20 ล้านบาท โดยอีก 6 ชุดที่เหลือวงเงิน 2,760.20 ล้านบาท จะครบกำหนดไถ่ถอนปี ช่วงปี 2567-2568