***กลายเป็นว่า “พิษของหุ้นกู้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STRAK ได้กลายเป็นตำนานระดับ “อภิมหาโกง” ที่ดูดเงินไปจาก “โคตรเซียน” ระดับนักลงทุนสถาบันรวมไปถึงนักลงทุนรายเล็กรายใหญ่จนทำให้ตัวซีด...ตัวเหลือง รวมมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และก็ด้วย “พิษของหุ้นกู้” ในแบบเดียวกันนี้เองได้ผลักดันให้ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL แปลงสภาพจาก บริษัทอสังหาฯ ดาวรุ่งที่ได้กลายมาเป็นบริษัทที่ขายทุกอย่างมาใช้หนี้ จนไม่สามารถที่จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เหลืออยู่ต่อไปได้อีก เพราะเหลือเงินสดอยู่ในมือไม่ถึงล้านบาท และราคาหุ้นเหลืออยู่เพียงไม่กี่สตางค์เท่านั้น
*** คราวนี้ถึงคิวของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN มี “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารสูงสุด ซึ่งเป็นบริษัทล่าสุดที่ถูก “พิษของหุ้นกู้” จนต้องอ้อมแอ้มออกมาบอกว่า บริษัทไม่สามารถชำระเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในวัน 1 ก.ย. 66 ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวได้ โดยบริษัททำได้เพียงการชำระเงินต้นบางส่วนจำนวน 146,618,630.14 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 9,981,369.86 บาท รวมเป็นเงิน 156,600,000 บาท โดยจะยังคงเหลือยอดค้างชำระ จำนวน 443,400,000 บาท ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้
หมายความตรงตัวว่า JKN ไม่สามารถทำตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึงว่า JKN จะผิดนัดในการชำระ...แม้จะไม่ทั้งหมด แต่นั่นก็ยังเป็นการ “เบี้ยว” การจ่ายหนี้หุ้นกู้อยู่ดี
ทีนี้เรามาลองเอาลักษณะของการผิดนัดชำระหุ้นกู้ในแบบของ JKN ไปเทียบเคียงกับ “นักเบี้ยวหนี้” รุ่นก่อนอย่าง STARK และ ALL ดูกันบ้าง
ประเด็นแรก คือลักษณะของการผิดนัดชำระ ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่า JKN และ ALL จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากเป็นการผิดนัดบางส่วนในวันครบกำหนดจ่าย แต่ท้ายที่สุดก็พยามหาเงินมาปิดส่วนที่เหลือ ซึ่งกรณีนี้ ALL ใช้วิธีการขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อนำเงินมาจ่าย จนแทบจะไม่เหลืออะไรให้ขาย จนในที่สุดก็หาเงินมาจ่ายไม่ได้
ขณะที่ทางฝั่งของ JKN ตอนนี้ได้เปิดเผยเพียงว่าจะดำเนินการด้วยวิธีผ่อนจ่าย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใด จะต้องขายสินทรัพย์ออกมาเช่นเดียวกับที่ ALL เคยทำหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้นอกจากตัวของ “แอน จักรพงษ์” เพียงคนเดียวเท่านั้น
ประเด็นที่สองเป็นเรื่องของการที่ JKN ผิดนัดชำระ ในขณะที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ยังเป็นบวก มีกำไรต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งการมีกำไรต่อเนื่องอย่างที่ว่านี้ ทำให้ไม่สามารถจับสัญญาณว่า บริษัทจะเกิดการขาดสภาพคล่อง จนถึงขนาดที่จะต้อง “เบี้ยวหนี้” ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่า JKN จะมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับ STARK มากกว่า
โดยในส่วนของ STARK ภายหลังจากที่ฟองสบู่กำไรปลอมได้แตกลง ก็ทำให้ได้รู้กันว่า STARK เป็นเพียงบริษัทกลวงๆ ที่มีแค่เปลือก โดยที่แทบจะไม่มีเหลืออะไรเลย เนื่องจากการตกแต่งบัญชีจนทั้งสินค้า วัตถุดิบรวมไปถึงเงินสด ถูกสูบออกไปหมดก่อนที่ฟองสบู่จะแตกนั่นเอง
ขณะเดียวก็ในส่วนของ JKN ก็น่าสังเกตว่า เมื่อในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มทุนด้วยการขายหุ้นแบบ RO ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 3 บาท ซึ่งการเพิ่มทุนที่ว่านี้ ทำให้นักลงทุนพากันงงเป็น “ไก่ตาแตก” มาแล้วทั้งตลาดฯ เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นาน “แอน จักรพงษ์” ได้ขายหุ้นบิ๊กล็อตออกมาหลายครั้ง ...หนักที่สุดก็เป็นช่วงที่ราคาหุ้นของ JKN ขยับขึ้นไปแตะ 5.60 บาท ภายหลังการแถลงข่าวการซื้อกิจการของ Miss Universe Organization (MUO) ทั้งที่ในตอนที่ซื้อ MUO
ทางด้านของ “แอน” ได้ระบุชัดเจนว่า “ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะการเข้าซื้อกิจการ MUO ครั้งนี้มาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการ และไม่จำเป็นต้องกู้เงินแต่อย่างใด” ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีใคร หรือหน่วยงานใดออกมาพูด แต่การขายบิ๊กล็อตที่ว่านี้ ก็มีลักษณะของการขายของแพง เพื่อเอาเงินที่ได้มาซื้อของถูก (ขายในราคาราว 5-5.50 บาท ก่อนที่จะมาเพิ่มทุนที่ราคา 3 บาท) จนทำให้เกิดการตั้งคำถาม และข้อสังเกต เรื่องการเพิ่มทุนนี้อย่างกว้างขวาง แม้ในท้ายที่สุด JKN ก็ยอมถอยด้วยการปรับสัดส่วนของการขายหุ้น RO ลงจาก 1:1 มาเป็น 2:1 เพื่อให้สามารถเพิ่มทุนให้ได้นั้นเอง
เอาเป็นว่าที่เล่ามาทั้งหมดเจ๊เมาธ์ไม่มีความตั้งใจที่จะระบุ หรือ ชี้ชัดลงไปว่า JKN ของ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” กำลังจะเดินตามรอยของ STARK หรือ ALL แต่อย่างใดทั้งสิ้น ที่เล่ามาทั้งหมดก็เป็นการจับเอาประวัติศาสตร์มาเทียบเคียงกับปัจจุบัน ในลักษณะทางวิชาการ ส่วนถ้าหากพูดกันมาขนาดนี้แล้ว JKN ก็ยังเดินตามหุ้นในตำนานทั้งสองต่อไปอีก คราวนี้ก็คงจะต้องตัวใครตัวมันกันได้แล้วเจ้าค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,919 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2566