ALL จ่อเข้าฟื้นฟูฯ หลังขาดสภาพคล่องหนัก ขาดทุนมัดจำซื้อที่ดิน- เงินลงทุน

16 ต.ค. 2566 | 00:17 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2566 | 00:48 น.

ALL แจงตลท.ฯ เตรียมเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังขาดสภาพคล่องหนัก จ่อบันทึกการด้อยค่าจากผลขาดทุนการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน -เงินลงทุนจากการร่วมค้า

บริษัทออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือที่ บจ.234/2566 ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2566 ให้ทางบริษัทชี้แจงภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นั้น

บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ดังนี้

1. ขาดทุนจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและการด้อยค่าของเงินมัดจำค่าที่ดินรวม 884 ล้านบาท

ตามที่บริษัทได้เคยมีผลขาดทุนจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในปี 2564 และปี 2565 จำนวน 100 ล้านบาท และ 101 ล้านบาท ตามลำดับ และบริษัทได้เคยเปิดเผยข้อมูลตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบถามว่า บริษัทมีแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยจะวางแผนการซื้อที่ดินและการวางมัดจำให้สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมทั้งติดตามสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศและของโลกให้เท่าทัน และนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม หมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ข้อ 7 ปรากฎข้อมูลว่า ในระหว่างงวด 6 เดือน ปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินมัดจำค่าที่ดินอีก 100 ล้านบาท และ 784 ล้านบาท ตามลำดับ

1.1 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูล บริษัทชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับเงินมัดจำค่าที่ดินแต่ละโครงการ 1,536 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ที่ดินแปลงที่ 1 ราคาซื้อที่ดินจะซื้อจะขาย 696,800,000.00 บาท ทำสัญญา 20/01/2565 เงินมัดจำ 297,590,000.00 บาท
  • ที่ดินแปลงที่ 2 ราคาซื้อที่ดินจะซื้อจะขาย 1,169,175,000.00 บาท ทำสัญญา 02/03/2563 เงินมัดจำ 590,000,000.00 บาท
  • ที่ดินแปลงที่ 3 ราคาซื้อที่ดินจะซื้อจะขาย  174,000,000.00 บาท ทำสัญญา 20/07/2563 เงินมัดจำ 100,000,000.00 บาท
  • ที่ดินแปลงที่ 4 ราคาซื้อที่ดินจะซื้อจะขาย 1,536,246,0,000.00 บาท ทำสัญญา 24/01/2565 เงินมัดจำ 501,810,000.00 บาท
  • ที่ดินแปลงที่ 5 ราคาซื้อที่ดินจะซื้อจะขาย 139,365,600.00 บาท ทำสัญญา 29/11/2564 เงินมัดจำ 49,795,000.00 บาท

บริษัทได้เพิ่มเติมแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยจะพิจารณาวางแผนการซื้อที่ดิน และการวางมัดจำให้สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทและตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศและของโลกให้เท่าทัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายในลักษณะนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 

1.2 อธิบายเหตุผลที่บริษัทมีผลขาดทุนในลักษณะเดียวกันดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 การปรับปรุงนโยบายการวางเงินมัดจำค่าที่ดินที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทพิจารณาว่า เงินมัดจำในส่วนที่เหลือจะมีความเสี่ยงจากการยกเลิก หรือด้อยค่าอีกหรือไม่อย่างไร และบริษัทมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร รวมทั้งขอให้สรุปหลักเกณฑ์และข้อมูลประกอบการพิจารณาการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินมัดจำค่าที่ดินดังกล่าว

บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อมูลว่า เงินมัดจำที่เหลือในงบการเงินมูลค่า 590 ล้านบาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2569 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ผู้บริหารมีแผนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และพยายามหาหาแหล่งเงินทุนมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในกำหนด

หลักเกณฑ์และข้อมูลประกอบการพิจารณาการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินมัดจำที่ดินดังกล่าว มาจากเงินมัดจำที่ดินที่จะถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2566 ทั้งหมด ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ผู้บริหารคาดว่าจะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันกำหนด จึงตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าทั้งจำนวน

1.3 ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเหมาะสมของการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและการตั้งด้อยค่าเงินมัดจำค่าที่ดินว่า ได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทแล้วหรือไม่ อย่างไร

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบ โดยบริษัท จะรายงานความเห็นของคณะกรรมการภายในวันที่20 ตุลาคม 2566

1.4 บทบาทและการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและการวางเงินมัดจำค่าที่ดินของบริษัท รวมถึงการติดตามให้บริษัทปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการดังกล่าว สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวติดต่อกันต่อเนื่อง การดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบ โดยบริษัทจะรายงานความเห็นของคณะกรรมการภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2566

2. ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในการร่วมค้า 474 ล้านบาท

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 4 และ 9 ณ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในการร่วมค้า 474 ล้านบาท โดยบริษัทมีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่การร่วมค้าที่มีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยภายในเดือนสิงหาคม 2565 – มีนาคม 2568 อย่างไรก็ตาม โครงการของการร่วมค้าได้มีการหยุดชะงักชั่วคราว บริษัทจึงหยุดคิดดอกเบี้ยและจัดประเภทเงินให้กู้ยืมระยะยาวเป็นเงินลงทุนในการร่วมค้าทั้งจำนวน (ณ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 707 ล้านบาท และ ณ 30 มิถุนายน 2566จ นวน 7 ล้านบาทตามลำดับ)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลดังนี้

 2.1 รายละเอียดของกิจการร่วมค้า เช่น ชื่อกิจการร่วมค้า ลักษณะโครงการ มูลค่าโครงการ สถานะการประกอบธุรกิจ ของแต่ละโครงการรวมถึงสาเหตุที่มีผลขาดทุน

บริษัทชี้แจงว่ามี 3 กิจการร่วมค้าได้แก่

  •  1.บริษัท ออลล์ อินสไปร์-ฮูซิเออร์ สุขุมวิท 50 จำกัด พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายภายใต้ชื่อโครงการ "The Excel Hideaway Sukhumvit 50" มูลค่าโครงการ 735 ล้านบาท อยู่ระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • 2.บริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย มูลค่าโครงการ 4,996 ล้านบาท กำลังพัฒนาที่ดิน
  • 3.บริษัท เอเจ เจริญนคร จำกัด พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย มูลค่าโครงการ 1,382 ล้านบาท กำลังพัฒนาที่ดิน

ทั้งนี้ บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทอยู่ในช่วงของการปรึกษาหารือกับบริษัทร่วมค้า เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

ส่วน 3 เงินให้กู้ยืมแก่การ่วมค้าที่ได้มีการพิจารณาตั้งด้อยค่าเป็นการให้กู้ยืมตามสัดส่วนหรือไม่ อย่างไร บริษัทขอเรียนชี้แจงดังนี้เงินให้กู้ยืมแก่การร่วมค้าถูกจัดประเภทเป็นเงินลงทุนในการร่วมค้า ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) บริษัทจึงพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าในส่วนของเงินลงทุนในการร่วมค้า โดยพิจารณาตามสินทรัพย์สุทธิของการร่วมค้า ณ สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เทียบกับมูลค่าเงินลงทุนในการร่วมค้า หากสินทรัพย์สุทธิต่ำกว่าเงินลงทุนในการร่วมค้า บริษัทจะบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าเพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของการร่วมค้าในงบการเงินรวม

3. ขาดทุนจากการยุติข้อพิพาทจากการผิดสัญญากู้ยืม 294 ล้านบาท

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 13 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 บริษัทย่อยกู้เงินจากบุคคลภายนอก (เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการและจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากบริษัท) 160 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 14% กำหนดชำระภายใน 12 เดือน โดยโอนสิทธิการเช่าช่วงอาคารห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ของบริษัทย่อยเป็นหลักประกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 บริษัทย่อยทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทจากการผิดสัญญาเงินกู้ยืม โดยโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้และรับรู้ผลการขาดทุนจากการยุติข้อพิพาทดังกล่าว 294 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อมูล ดังนี้
         

  • 3.1 ชื่อบริษัทย่อย รายละเอียดหลักประกัน ประกอบด้วย มูลค่า ชื่อโครงการและที่ตั้งของหลักประกันและสาเหตุของการ ขาดทุนจากการยุติข้อพิพาท

 บริษัทขอเรียนชี้แจงดังนี้เงินกู้ยืมบุคคลภายนอก ดังกล่าว เป็นการทำสัญญากู้ยืมจากบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นบุคคลโดยมีหลักประกัน เป็นสิทธิการเช่าฟอรัม ชื่อ โครงการ The New Forum ตั้งอยู่จังหวัดชลบุรี โดยสาเหตุเกิดจากบริษัทฯ ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน

  • 3.2 ผู้อนุมัติการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาท โดยเป็นการดำเนินการตามอำนาจอนุมัติหรือไม่ อย่างไร รวมถึงบริษัทมีการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายก่อนตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวหรือไม่อย่างไร เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากการยุติข้อพิพาทอย่างมีนัยสำคัญ

          บริษัทขอเรียนชี้แจงดังนี้เริ่มตั้งแต่บริษัทได้ทำสัญญาเช่าหลังจากนั้นเมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินบริษัทก็ได้ค้างค่าเช่ามาตลอดและได้รับหนังสือทวงถามจากทางผู้ให้เช่าเพื่อให้เขาชำระค่าเช่าหรือบอกเลิกสัญญาหลังจากนั้นบริษัทได้พยายามหาเงินมาชำระค่าเช่าที่ค้างไว้หลายครั้งซึ่งครั้งสุดท้ายก่อนทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้บริษัทก็ได้ค้างค่าเช่าเป็นจำนวน 4 เดือน

  • 3.3 การพิจารณาและความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบต่อการทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวว่า ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง อย่างไร เช่น ความสัมพันธ์ของกรรมการหรือผู้บริหารกับบุคคลภายนอกดังกล่าว การโอนหลักประกันที่มีมูลค่าเกินกว่ามูลหนี้จำนวนมาก

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบ โดยบริษัทจะรายงานความเห็นของคณะกรรมการภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2566

4. คดีความและข้อพิพาทที่มีนัยสำคัญ ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 20

คดีความ : ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและกรรมการบริษัทถูกฟ้องร้องจากบริษัทแห่งหนึ่งและบุคคลธรรมดารายหนึ่งจากการผิดสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายทุนทรัพย์ 193 ล้านบาท จากการที่กรรมการของบริษัทท่านหนึ่งได้ทำสัญญาลงทุนในปี 2560 ในฐานะบริษัทเพียงผู้เดียว และผิดนัดชำระคืนเงินต้นและเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญา รวมจำนวน 6.60 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ข้อพิพาท : วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 Ground Property Pte. Ltd ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนของบริษัท เอจี ทองหล่อ 16 จeกัด (AG: การร่วมค้าที่บริษัทถือหุ้น 62%) ได่ยื่นคeเสนอข้อพิพาทต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ไอซีซี เรียกร้องให้บริษัทจัดสรรเงินกู้ยืมในสัดส่วนของบริษัทจำนวน 565 ล้านบาท และให้บริษัทโอนกรรมสิทธิที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ AG ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทมีเงินรับล่วงหน้าค่าที่ดินจาก AG จำนวน 354 ล้านบาท โดยบริษัทยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดเผยในงบการเงินว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 บริษัทไดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ AG มูลค่า 886 ล้านบาท โดยต่อมามีการขยายระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี เป็นภายในกันยายน 2564 ซึ่งฝ่ายบริหารของทั้งสองบริษัทได้มีการเจรจาขอขยายระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิที่ดินดังกล่าว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อมูลดังนี้

4.1 สรุปสาระสำคัญและความคืบหน้าของคดีความและข้อพิพาทดังกล่าว โดยมีข้อมูลขั้นต่ำตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด รวมถึงมูลค่าประมาณการหนี้สินที่ได้บันทึกไว้ในงบการเงิน (ถ้ามี)
 

บริษัทขอเรียนชี้แจง ดังนี้ คดีความสัญญาเงินลงทุนฉบับดังกล่าว เดิมกรรมการบริษัทท่านหนึ่งได้มีการติดต่อกู้ยืมเพื่อนำเงินดังกล่าวมาลงทุนในฐานะส่วนตัวมาตั้งแต่ต้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับ ALL แต่อย่างใด แต่เนื่องจากคู่สัญญามีความประสงค์จะให้ ALL เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วยซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องมีการนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน กรรมการบริษัทท่านหนึ่งจึงได้ลงนามในสัญญาในฐานะส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ ALL และ ALL ไม่ได้รับเงินลงทุนดังกล่าวและไม่ได้นำเข้าเป็นทรัพย์สินของบริษัทแต่อย่างใด เพียงแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการตกลงเพื่อแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อของคู่สัญญา ซึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ ALL ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 เพราะ ALL ยังมีชื่ออยู่ในสัญญา ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ALL ไม่ได้เกี่ยวข้องการทำสัญญา Land Banking Investment Fund Agreement แต่อย่างใด

4.2 ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีความ: สรุปสาระสำคัญของสัญญาลงทุนในปี 2560 การผิดนัดชำระหนี้ ข้อเท็จจริง รวมถึงชื่อกรรมการที่ท สัญญาลงทุนในปี 2560 การทำสัญญาลงทุนในปี 2560 โดยกรรมการเพียงคนเดียว ดังกล่าว มีผลผูกพันต่อบริษัทหรือไม่ และมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างไร การดำเนินการของบริษัทต่อคดีความนี้ ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทต่อการดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของบริษัทอย่างไร

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า ทางกรรมการ ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งสองราย โดยในคดีดังกล่าว กรรมการและเจ้าหนี้ได้ตกลงทำสัญญายอมโดยกรรมการเป็นผู้รับผิดในหนี้เงินกู้ยืมแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหมายความว่าบริษัทฯ จะไม่ต้องรับผิดใดๆ จากคดีที่ถูกฟ้องร้องดังกล่าว
 

4.3 ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อพิพาท: สรุปสาระสำคัญของข้อตกลงการร่วมทุนใน AG เหตุผลที่บริษัทไม่จัดสรรเงินให้กู้ยืมตามสัดส่วนและไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา การใช้เงินที่ได้รับล่วงหน้าค่าที่ดินจำนวน 354 ล้านบาทสาเหตุที่นำไปสู่ข้อพิพาททั้งที่ได้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายบริหารของทั้งสองบริษัท ความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาท และผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท

บริษัทขอเรียนชี้แจง ดังนี้ ข้อพิพาทเดิม ALL ได้มีการเจรจาและหาแนวทางการยุติข้อพิพาทกับผู้ลงทุน (Ground Property PTE LTD) โดยสันติวิธี เพื่อกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับ เอ จี ทองหล่อ มาโดยตลอด แต่เนื่องจากผู้ลงทุนยุติการเจรจาและเลือกใช้วิธีการยุติข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ใช้หัวข้อ 10.11 Dispute Resolution ใน Joint Venture Agreement dated as of 28th September, 2018 โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 Ground Property PTE LTD ในฐานะผู้เรียกร้อง (Claimant) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ ALL ในฐานะผู้ถูกเรียกร้อง (Respondent) เพื่อนำข้อพิพาทในสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ALL จัดหาทนายความที่เหมาะสม พร้อมจัดตรียมเอกสารและหลักฐานในการโต้แย้งสิทธิของ Ground Property PTE LTD ในขณะนี้จึงยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับ เอ จี ทองหล่อได้ เนื่องจากต้องรอให้ผลการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน

4.4 คดีความและข้อพิพาทข้างต้น สะท้อนถึงความเพียงพอของระบบควบคุมภายในหรือไม่ อย่างไร และแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน รวมถึงความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบต่อความเพียงพอของระบบคงบคุมภายในในปัจจุบันและแนวทางที่จะปรับปรุงเพิ่มเติม (ถ้ามี

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทจะเร่งดำเนินการปรึกษาแนวทางปรับปรุงระบบการควบคุมภายในกับทางคณะกรรมการตรวจสอบต่อไป
 

ทั้งนี้ ALL รายงานงบไตรมาส 2/66 มีผลขาดทุน 1,306.90 ล้านบาทเทียบกับไตรมาส 2/65  ที่มีผลขาดทุน 154.34 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566  รับทราบการลาออกของ นายธนากร ธนวริทธิ์จากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO : Chief Executive Officer) และตำแหน่งกรรมการบริษัททุกตำแหน่ง ตามมติและคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบ จากกรณีผู้สอบบัญชี รายงานหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 20 เรื่องคดีความและข้อพิพาทที่มีนัยสำคัญ กรณีที่บริษัทและกรรมการถูกฟ้องร้องจากบริษัทแห่งหนึ่ง และบุคคลธรรมดารายหนึ่ง จากการผิดสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายทุนทรัพย์ 193 ล้านบาท จากการที่
กรรมการท่านหนึ่งของบริษัทได้ทำสัญญาลงทุนในปี 2560 ในฐานะบริษัทเพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาตามหลักนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) เห็นควรให้นายธนากร ธนวริทธิ์ ยุติบทบาทการเป็นกรรมการจนกว่าเรื่องดังกล่าวจะชัดเจน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และความโปร่งใส โดยการลาออกดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566เป็นต้นไป