“กฤษณ์-กรณ์”ลุยต่อเร่งโอนหุ้น"โกลเด้น มิวสิค"กลับมาเป็นของครอบครัว

20 ต.ค. 2566 | 10:00 น.
อัพเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 10:07 น.

“กฤษณ์-กรณ์” ตั้งโต๊ะแถลง "กางหลักฐานสำคัญ"หลังศาลตัดสิน"เกษม ณรงค์เดช"ถูกปลอมลายเซ็น ไม่เคยเป็นนอมินีคุณหญิงกอแก้วซื้อหุ้นวินด์ เดินหน้าแก้ไขการจดทะเบียน"นำหุ้น WEH"กลับมาเป็นของ"ณรงค์เดช"ที่ถือในนามบริษัทโกลเด้น มิวสิคฯ 38%

จากกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับพวกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1708/2564 กรณีที่นายณพ อ้างว่านายเกษม (บิดา) เป็นตัวแทนให้กับคุณหญิงกอแก้ว (แม่ยาย) ในการซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) และการโอนหุ้นวินด์ เอนเนอยี ไปให้บริษัทโกลเด้น มิวสิค ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ครอบครัวมีแถลงการณ์ประกาศตัดนายณพ ออกจากตระกูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

“กฤษณ์-กรณ์”ลุยต่อเร่งโอนหุ้น\"โกลเด้น มิวสิค\"กลับมาเป็นของครอบครัว

"ที่ผ่านมานายเกษมได้ถูกเข้าใจผิดมาตลอดระยะเวลาหลายปีว่า การที่นายเกษม และครอบครัวณรงค์เดช ออกมาพูดเรื่องการถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นของนายเกษมไปให้แก่คุณหญิงกอแก้ว เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งที่มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนายเกษมในเอกสารปัญหาดังกล่าวโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ผลปรากฎจากการตรวจสอบจากทั้ง 2 สถาบันล้วนยืนยันออกมาตรงกันว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ใช้ความอดทนเพื่อรอการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา" คำแถลง ระบุ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ1753/2566 โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เอกสารจำนวน 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม กล่าวคือ 

  • 1) สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ ที่นายเกษม ทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด 
  • 2) หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ที่นายเกษม รับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ 
  • 3) ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษม โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว 
  • 4) ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว 
  • 5) คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใดๆที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว 

 

“กฤษณ์-กรณ์”ลุยต่อเร่งโอนหุ้น\"โกลเด้น มิวสิค\"กลับมาเป็นของครอบครัว

 

ต่อเรื่องนี้ นายพิชา ป้อมค่าย ทนายความของครอบครัวณรงค์เดช ขยายความเพิ่มว่า “เอกสาร 5 ฉบับที่มีลายมือชื่อนายเกษมศาลฯมีคำพิพากษาแล้วว่า เป็นลายมือชื่อปลอม จึงถือว่าเป็นเอกสารปลอม ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ริบเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ดังนั้นในความหมายคือใครนำเอกสารปลอมไปใช้ก็จะมีความผิด และเมื่อเป็นเอกสารปลอม การที่นายณพ และคุณหญิงกอแก้วได้กล่างอ้างมาตลอด เกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ระหว่างนายเกษม และคุณหญิงกอแก้วจึงไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

ลั่นธุรกิจครอบครัวบริหารงานโดย"กฤษณ์และกรณ์"เท่านั้น

การที่ครอบครัวณรงค์เดช ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันนี้ เพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาจากศาล และได้ตรวจสอบข้อความในคำพิพากษาทั้งหมดแล้ว จากคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ดังกล่าว เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่นายเกษม และครอบครัวณรงค์เดชได้พูดกับสื่อมวลชนมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ว่านายเกษมถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นวินเอนเนอยี ของครอบครัวออกไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว และเพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนว่า ครอบครัวณรงค์เดชประกอบอาชีพโดยสุจริต ไม่เคยคิดโกงใคร และนายเกษมเอง เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงไม่มีทางยินยอมเป็นนอมินีหรือเป็นตัวแทนให้แก่คุณหญิงกอแก้วอย่างแน่นอน

ครอบครัวณรงค์เดช ขอยืนยันว่าธุรกิจในเครือทั้งหมดของครอบครัว ปัจจุบันได้แบ่งการบริหารงานโดยนายกฤษณ์ และนายกรณ์ ทายาทของครอบครัวที่เหลืออยู่เพียง 2 คนเท่านั้น"

 

“กฤษณ์-กรณ์”ลุยต่อเร่งโอนหุ้น\"โกลเด้น มิวสิค\"กลับมาเป็นของครอบครัว

ลุยต่อนำ"โกลเด้น มิวสิค" กลับมาเป็นของครอบครัว ณรงค์เดช

ส่วนขั้นตอนหลังนี้ ครอบครัว"ณรงค์เดช"จะนำผลของการพิพากษาศาลดังกล่าว ไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขให้บริษัทโกลเด้นมิวสิค ซึ่งจดทะเบียนที่เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง กลับมาเป็นของครอบครัว"ณรงค์เดช" ( เกษม ณรงค์เดชถือหุ้น 99.99% )  ขณะที่โครงสร้างการถือหุ้นในวินด์ เอนเนอยี ที่ปัจจุบันมีบริษัทโกลเด้น มิวสิค  ถือหุ้นอยู่ 37.87%  ส่วนนี้ บริษัทโกลเด้น มิวสิค ก็ยังถือเท่าเดิมไม่กระทบ

ส่วนคำถามที่ว่า โครงสร้างการบริหารวินด์ เอนเนอยี ฯ จะเปลี่ยนแปลงไปตามเดิมหรือไม่หลังจากนี้ นายพิชา กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ( กลุ่มนายประเดช กิตติอิสรานนท์ ) รวมตัวกันได้เสียงข้างมากอยู่แล้ว แม้ ณ ปัจจุบันโกลเด้น มิวสิค จะถือหุ้นใหญ่อยู่ 38% ก็จริง แต่เรายังไม่ได้รวบรวมเสียงข้างมาก โดยนิตินัยชื่อก็ยังไม่ใช่  รอให้โอนกลับมาเป็นของครอบครัวคุณเกษมก่อนแล้วค่อยว่ากัน เป็นเรื่องธุรกิจในอนาคต 

"ต่อจากนี้ทีมกฎหมายจะมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะยังมีคดีที่เกี่ยวข้องอีก 10 คดี โดยเบื้องต้นต้องมีการประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัทโกลเด้น มิวสิคที่ฮ่องกงก่อนว่าจะทำอย่างไรหลังจากมีคำตัดสินนี้ออกมา "

พร้อมเจรจา

อย่างไรก็ดี หากดำเนินคดีตามกฏหมายอาจจะต้องใช้เวลานานตามกระบวนการของศาล จึงมีแนวทางในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ได้ข้อสรุปเร็วขึ้น ซึ่งตัวกลางน่าจะเป็นฝ่ายกฎหมายของแต่ละฝ่ายที่จะต้องนัดทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาเจราจากันแต่ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีขึ้นเมื่อไร
  
         
ลั่น"บทเรียน"ครอบครัว ปิดความเสี่ยงไม่ให้เกิดซ้ำ


ด้านนายกรณ์ ณรงค์เดช (บุตรชายคนเล็กของนายเกษม) กล่าวว่า กล่าวว่าในฐานะลูก ครอบครัวเรา คุณพ่อและคุณแม่ สอนในเรื่องการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์มาตลอด และรุ่นผมก็เจเนอเรชั่นที่ 3 เรื่องราวเกิดขึ้นมา 6-7 ปี ตอนนั้นคุณพ่ออายุ 82 ปี มาวันนี้ 88 ปี  ผลการพิพากษาศาลที่ออกมา ทำให้ครอบครัวรู้สึกสบายใจ ที่คุณพ่อได้รับความเป็นธรรม เป็นการเคลียร์ พิสูจน์ความจริงในสิ่งที่คุณพ่อพูดมาตลอด 6 ปีว่า เป็นลายเซ็นส์ปลอม  

ขณะที่นายกฤษณ์ ณรงค์เดช  (บุตรชายคนโตของนายเกษม ) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เป็นเรื่องธุรกิจภายในครอบครัว  ตอนนั้น"ณพ" (บุตรชายคนกลางนายเกษม)  มาติดต่อว่ามีธุรกิจอันนี้ ทางครอบครัวก็มอบเงินและมอบหมายให้ ณพ เป็นตัวแทนเรื่องนี้ ไปซื้อของ ก็คุยกันดี เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาเลย ถ้าไม่มีการปลอมแปลงลายเซ็นส์ พอปลอมไปให้บุคคลที่ 3 ทำให้อำนาจการคุยไม่มี  และไม่รู้ปลอมไปกี่ทอด แต่วันนี้ศาลพิสูจน์มาแล้วว่าเอกสารปลอม " นายกฤษณ์ กล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า 

ยอมรับเรื่องธรรมนูญการปกครองครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผ่านมา พวกเราถูกเลี้ยง การบริหารธุรกิจก็อยู่แบบพี่แบบน้อง ของเขาคือของเรา ของเราคือของเขา อะลุ่มอล่วยกันมาตลอด และถ้าคุณแม่ยังอยู่ (คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ) เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งในความจริง ผมเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว แต่พอเกิดเหตการณ์นี้ ตอนนี้ครอบครัวก็ได้ปิดความเสี่ยงตรงนี้แล้ว จะไม่ให้เกิดขึ้นในเจเนอเรชั่นต่อไป   

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง (WEH) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66 

  • โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด 41,216,398 หุ้น สัดส่วน 37.87%
  • บริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด 29,008,091 หุ้น สัดส่วน 26.65%
  • นาย ประเดช กิตติอิสรานนท์ 12,854,890 หุ้น สัดส่วน 11.81%
  • บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) 7,748,294 หุ้น สัดส่วน 7.12%
  • บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) 4,210,526 หุ้น สัดส่วน 3.87%
  • บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส ลิมิเต็ด จำกัด 1,360,467 หุ้น สัดส่วน 1.25%
  • บริษัท เคเลสตัน โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด จำกัด 1,360,467 หุ้น สัดส่วน 1.25%
  • บริษัท เอแอลเคบีเอส จำกัด 1,360,467 หุ้น สัดส่วน 1.25%
  • อื่นๆ 9,717,700 หุ้น สัดส่วน 8.93%

 

"ณพ" ยัน "กฤษณ์" ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว  

 

จากนั้นวันที่ 21 พ.ย. 66 นายณพ ณรงค์เดช ได้ชี้แจงกรณีที่ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช แถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่มีข้อความตอนหนึ่งในการแถลงข่าวระบุว่า “ซึ่งในความจริง ผมเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ ตอนนี้ครอบครัวก็ได้ปิดความเสี่ยง ตรงนี้แล้ว จะไม่ให้เกิดขึ้นในเจเนอเรชั่นต่อไป

โดยนายณพ ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากปัจจุบันข้าพเจ้ามีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับนายกฤษณ์ ณรงค์เดช ดังนั้นเนื้อหาของข่าวในส่วนที่ระบุว่านายกฤษณ์ เป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว จึงไม่ถูกต้อง 

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นเสียหายที่เกิดขึ้น นายณพ จึงชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องว่านายกฤษณ์ฯ มิใช่เป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช แต่ เพียงผู้เดียวตามที่นายกฤษณ์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์

พร้อมกันนี้ นายณพยังได้แนบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๓๐/๒๕๖๕ คดีหมายเลขแดงที่ ๘๑๖๙/๒๕๖๖ วันที่ 9 มีนาคม 2566 ระหว่างผู้ร้องคือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช กับ นายณพ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช และนายเกษม ณรงค์เดช เรื่องขอถอนผู้จัดการมรดก 

ซึ่งศาลมีคำพิพากษากลับเป็นว่า ให้ตั้งนายณพ ณรงค์เดช ผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมกับนายกฤษณ์ ณรงค์เดช ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
 

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม