ผ่างบการเงิน"JKN" สภาพคล่องขาดมือ - หนี้สินระยะสั้นกระจุกตัว

09 พ.ย. 2566 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 01:36 น.

เปิดงบการเงิน JKN ล่าสุดงวด 6 เดือนปี 66 สะท้อนวิกฤตสภาพคล่อง เงินสดเหลือเพียงหลักร้อยล้าน แหล่งทุนฟันดิ่ง 83% พึ่งหุ้นกู้อายุไม่เกิน 2.75 ปี ยอดรายได้จากการเรียกเก็บลูกหนี้พลาดเป้า

จากการที่คณะกรรมการบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ประชุมเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 และมีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา

 "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ และข้อมูลตามการยื่นไฟลิ่ง  งวด 6 เดือนของบริษัทฯ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566  เมื่อพิจารณาถึงสภาพคล่องและสถานะการเงิน พบว่า แม้บริษัทมีสินทรัพย์รวมมากกว่าหนี้สิน โดยสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 12,161.27ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมอยู่ที่ 7,398.74 ล้านบาท เทียบแล้วยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นมากถึง  4,762.53 ล้านบาท  สะท้อนสถานะการเงินแกร่งในระดับหนึ่ง และมีรายได้งวด 6 เดือนอยู่ที่ 1,500.10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น  50.86% YoY) กำไรสุทธิ 121.48 ล้านบาท (โต 34.19% YoY) 

 

ผ่างบการเงิน\"JKN\" สภาพคล่องขาดมือ - หนี้สินระยะสั้นกระจุกตัว

 

สภาพคล่องหด หนี้ระยะสั้นกระจุกกว่า 83% 

อย่างไรก็ดีไส้ในกลับพบว่า โครงสร้างภาระหนี้ของบริษัทมี"หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย"อยู่ที่ 5,027 ล้านบาท แต่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพียง 112.50 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ระยะสั้นที่จะถึงกำหนดได้ อีกทั้งแหล่งเงินที่ใช้รองรับการขยายธุรกิจ  กลับเป็นการพึ่งพิงการการออก"หุ้นกู้" เป็นหลัก โดยเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นอายุ 1.75-2.75 ปี  

โครงสร้างมูลหนี้คงค้าง 5,027 ล้านบาท  แยกเป็นมูลหนี้จากการออกหุ้นกู้และหุ้นกู้แปลงสภาพถึง 4,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83.57% กู้ยืมจากสถาบันการเงิน 809 ล้านบาท สัดส่วน 16% ที่เหลืออีก 16.75 ล้านบาท หรือราว 0.33% ดังนั้นหากการรับรู้รายได้ของบริษัทไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์หรือล่าช้าจากแผนงานที่วางไว้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสามารถในการชำระหนี้ 

รายได้"ลูกหนี้การค้า" เสี่ยงเรียกเก็บไม่ได้ตามแผน

ด้านเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละเดือน บริษัทมีเงินที่จัดเก็บจาก"ลูกหนี้การค้า" จากมูลหนี้ยอดลูกหนี้การค้าคงค้างอยู่ที่  2,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากสิ้นปี 2565 ที่มีประมาณ 1,559 ล้านบาท ที่น่าสังเกตุคือยอดหนี้การค้า 2,291 ล้านบาท มีจำนวนมากกว่า"รายได้ค่าสิทธิ" ที่เป็นรายได้หลักของบริษัทประมาณ 1,137 ล้านบาท

 

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.66 บริษัทสามารถเก็บเงินได้บาส่วนจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้ราว 335 ล้านบาท  แต่ที่น่ากังวลคือลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระนานกว่า 3 เดือนขึ้นไปราว 898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ประมาณ 54% ขณะที่ลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระนานกว่า 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 102% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 99 ล้านบาท ในปี 2565 มาเป็น 200 ล้านบาท  ปัจจุบันบริษัทฯตั้งสำรองหนี้เสียส่วนนี้แล้วประมาณ  66.4 ล้านบาท ดังนั้นหากรายได้จากการจัดเก็บลูกหนี้การค้าไม่สามารถเรียกเก็บได้ ก็จะยิ่งซ้ำเติมสภาพคล่อง

ที่ผ่านมา "แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์" ผู้ถือหุ้นใหญ่และซีอีโอของ “JKN” กล่าวยอมรับว่า ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับบริษัทจนเสมือนระเบิดเวลา มาจากเรื่องของการ Funding คือเงินทุนสั้น ไม่สอดคล้องกับระยะเวลากับการทำธุรกิจที่ต้องเป็นเงินทุนระยะยาว 5-7 ปี ซึ่งบริษัทฯมีแผนที่จะโครงสร้างแหล่งเงิน โดยขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ (Exim Bank) วงเงินพันล้านบาท แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ

 

ผ่างบการเงิน\"JKN\" สภาพคล่องขาดมือ - หนี้สินระยะสั้นกระจุกตัว  

แม้บริษัทฯ แก้ปรับหนี้ได้บางส่วน โดยการยืดหนี้หุ้นกู้"รุ่น JKN239A "ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.66 ไปเป็นวันที่ 23 ก.พ.67 มูลหนี้คงค้าง 525 ล้านบาท แต่รวมแล้วยังมีมูลหนี้คงค้างหุ้นกู้ 7 รุ่นที่จะครบกำหนดในช่วงตั้งแต่ปี 2567-2568  วงเงิน 3,360.2 ล้านบาท