คนที่ลงทุนหรือเล่นหุ้นมานานมากนั้น ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่ามักจะมีความคิดที่ “ฝังใจ” กับหุ้นบางประเภทที่ตนเองเคยประสบและมีประสบการณ์ที่ “ไม่ดี” ซ้ำอยู่หลายหนจนทำให้ “เข็ด” และหลังจากนั้นก็จะไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วย แม้ว่าหุ้น “ตัวใหม่” อาจจะกำลัง “ดูดี” น่าลงทุน เหตุผลรวบยอดที่ใช้ก็คือ เขา “เกลียด” หุ้นที่มีลักษณะแบบนั้น เพราะลงทุนหรือเล่นแล้วก็มักจะขาดทุนหรือหุ้นไม่ไปไหน ตัวอย่างที่เห็นบ่อย ๆ ในเว็บบอร์ดสาธารณะเกี่ยวกับหุ้นก็เช่น “กลุ่มหุ้นปันผล” ที่จ่ายหรือกำลังจะจ่ายปันผลงดงามที่มักจะพบคอมเม้นท์ที่ว่า “อยากเอาปันผลไปคืน” หลังจากวัน X-Dividend หรือวันที่ได้รับสิทธิในปันผลไปแล้วและราคาหุ้นตกลงมามากกว่าเงินปันผลที่ได้พอสมควร ซึ่งทำให้ซื้อแล้ว “ขาดทุน”
หุ้นที่ซื้อแล้ว “ขาดทุน” หรือ “ไม่ได้อะไรเลย” แม้ว่าจะวิเคราะห์ดีแล้ว และผลประกอบการก็ออกมา “ดีตามคาด” เป็นหุ้นที่มักทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะ VI รู้สึกผิดหวังมากกว่าปกติ และนั่นก็อาจจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนถึงจุดหนึ่งเราก็จะ “เกลียด” และจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนั้น ซึ่งก็มีหลายแบบมากดังตัวอย่างต่อไปนี้
กลุ่มแรกก็คือ หุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของเป็นกลุ่มที่ไม่ใคร่จะสนใจนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายหุ้น อาจจะเพราะพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเลยเพราะเขาไม่สนใจหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับการที่ไม่คิดจะขายหุ้นซึ่งอาจจะอยู่ในบริษัทโฮลดิ้งหรือกงสีที่เป็นแหล่งของความมั่งคั่งของคนในกลุ่มของตนเองที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น พวกเขาก็อาจจะไม่สนใจที่จะทำให้ราคาหรือมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น หรือถ้ากิจการของบริษัทมีกำไรดี เขาก็จะจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงินอยู่กับบริษัทที่เขาควบคุมนั้น ดีกว่าต้องจ่ายออกไปให้กับนักลงทุนที่เป็น “คนนอก” หุ้นจึงมักจะไม่ค่อยไปไหน
คนที่เป็น VI รวมถึงผมก็เลยเกลียดหรือไม่ชอบหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สนใจผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มาจากต่างชาติบางประเทศที่มักจะมีประวัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นาน ๆ เราก็อาจจะ “เผลอ” เหมือนกันเวลาเจอหุ้นหรือบริษัทที่ “ดี” และน่าสนใจมาก เราก็อาจจะเข้าไปซื้อหรือเก็งกำไร และก็อาจจะพบว่า “ผิดหวังอีกแล้ว ไม่รู้จักจำ” ว่าเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารเป็นใคร
หุ้นที่ผม “เกลียด” กลุ่มที่สองก็คือ หุ้นที่มีความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สูงมาก ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงได้มากเวลาที่อุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกันรุนแรง ตัวอย่างเช่น เหล็ก น้ำมัน ยาง ปิโตรเคมี หรือสินค้าบริการอย่างค่าระวางเรือเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระดับของการไม่ชอบและการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปลงทุนซื้อขายก็แตกต่างกันบ้างตามความผันผวนของราคาสินค้าและระดับของมาร์จินหรือส่วนต่างราคาซื้อและขายของบริษัทในอุตสาหกรรมแต่ละอย่าง
ธุรกิจที่เกี่ยวกับเหล็กนั้น ผมคิดว่าลำบากมากที่จะทำผลตอบแทนระยะยาวไม่ว่าบริษัทจะดีแค่ไหน ดังนั้น หุ้นเหล็กตัวหนึ่ง ที่แม้ว่าจะ “ยิ่งใหญ่” มากในตลาดหุ้นเวียตนามและทำกำไรได้ดีมากในปัจจุบันผมเองก็จะหลีกเลี่ยง ผมคิดว่า ในระยะยาวแล้ว การถือหุ้นเหล็กคงทำกำไรได้ยาก และถ้าระยะยาว 4-5 ปี ถือไม่ได้ ระยะสั้นแค่ 4-5 นาทีผมก็ไม่ถือ
อย่างไรก็ตาม หุ้นโภคภัณฑ์นั้น บ่อยครั้งก็ให้ผลตอบแทนแบบ “ทะลุฟ้า 4-5 เด้ง” ได้ง่าย ๆ และนี่ก็ทำให้เรา “เผลอ” เข้าไปเล่นได้ ผมเองเคยคิดอยู่บ้างเหมือนกันในหุ้นบางตัว แต่ก็ไม่ได้ทำและก็พลาดโอกาสทำเงินไป อย่างไรก็ตาม ผมก็พยายาม “ไม่เสียดาย” เพราะเราไม่อยากรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงและประเมินไม่ได้
ผมจะเล่นต่อเมื่อบริษัทหรือหุ้นที่ทำกิจการโภคภัณฑ์นั้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ของราคาสินค้าในทางเดียวกันหมด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงรวมของบริษัทได้มาก และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หุ้นมีราคาที่ “ถูกมาก ๆ” และต่อให้ปีนั้นจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด มันก็ยังถูกอยู่ดี เพราะมันจะ “ไม่เจ๊ง” และในไม่ช้ากำไรก็จะกลับมาตามราคาโภคภัณฑ์ที่จะต้องดีขึ้น ตัวอย่างก็เช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้น
หุ้นกลุ่มที่ 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานก็คือ กิจการที่อาจจะถูก Disrupt หรือทำลายล้างโดยเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัล ตัวอย่างอาจจะรวมถึงธุรกิจหนังสือ สิ่งพิมพ์ ทีวี และโรงภาพยนตร์ ที่ผมพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากนั้นธุรกิจอย่างเช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็อาจจะกำลังโดนรถไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรง ทั้งหมดนั้น จริง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงหรือแค่บางส่วน นอกจากนั้น บริษัทก็อาจจะสามารถปรับตัวและหาตลาดใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเองก็ได้ ดังนั้น ถึงผมจะยังไม่ลงทุน ก็จะคอยติดตามว่าพัฒนาการของธุรกิจเป็นอย่างไร ผลประกอบการแย่ลงเรื่อย ๆ หรือเริ่มดีขึ้น ที่สำคัญ ราคาหุ้นตกลงมาถึงจุดไหนแล้ว ทั้งหมดนั้นก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะลงทุนและทำกำไรได้
หุ้นหรือบริษัทกลุ่มที่ 4 ที่ผมคิดว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากอาจจะ “เกลียด” แต่ผมเองคิดว่าน่าสนใจก็คือ หุ้นที่ “ไม่มีเจ้าของ” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก และผู้ถือหุ้นที่ถือจำนวนมากก็จะเป็นสถาบันที่ลงทุนโดยมืออาชีพ เช่นเดียวกับผู้บริหารบริษัทก็จะเป็นมืออาชีพที่จะต้องถูกประเมินโดยผู้ถือหุ้นสำหรับผลงานของตนเอง
ประเด็นที่นักเล่นหุ้นเกลียดหุ้นกลุ่มนี้ก็คือการที่หุ้นเหล่านี้มีขนาดใหญ่และมีคนที่พร้อมซื้อขายหุ้นมากเกินไป นอกจากนั้น จำนวนมากก็เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่มักตัดสินใจซื้อขายหุ้นโดยอิงกับภาวะการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก นั่นทำให้หุ้นใหญ่ ๆ ของไทยปรับตัวขึ้นลงน้อยในแต่ละวันหรือแม้แต่สัปดาห์ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ซื้อขายก็ตัดสินใจโดยอาศัยพื้นฐานกิจการของบริษัทที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงช้า ข่าวดีหรือข่าวร้ายของบริษัทที่เข้ามากระทบนั้น ก็มักจะมีผลไม่มากต่อผลประกอบการโดยรวม ดังนั้นราคาหุ้นจึงไม่ใคร่หวือหวา นักเล่นหุ้นที่เน้นการเก็งกำไรเร็ว ๆ จึงมักจะผิดหวังและ “ไม่อยากรอ” พวกเขาจึงมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้น
แต่ผมเองกลับชอบ เพราะราคาของหุ้นจะ “ไม่แพง”โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจลงทุนมากนัก และก็อาจจะไม่อยากที่จะถือหุ้นยาวด้วย เพราะมองว่ามีตลาดอื่นที่โตเร็วและเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่า
แต่สำหรับผมแล้ว คือกลุ่มที่มีความมั่นคงของผลประกอบการ มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ กิจการยังสามารถเติบโตได้บ้าง มีค่า PE ปกติไม่เกิน 10 เท่า และสามารถจ่ายปันผลในอัตราที่สูงมาก เช่น 4-5% ต่อปีขึ้นไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผมก็คิดว่าน่าลงทุนและหวังผลตอบแทนได้อย่างน้อย 6-7% ต่อปีขึ้นไป ซึ่งน่าจะดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดในอนาคต
หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมเกลียดก็คือ “หุ้นที่มีเจ้ามือ” หรือคนที่คอยดูแลทำราคาหรือเรียกว่าเป็น “Market Maker” หรือในกรณีที่รุนแรงก็คือปั่นหุ้นหรือ “คอร์เนอร์หุ้น” ที่ทำให้ราคาหุ้นผิดธรรมชาติมาก อาจจะสูงกว่าพื้นฐานเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
สิ่งที่จะต้องระวังมากสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ หลาย ๆ ตัวเป็นหุ้นที่อาจจะมีพื้นฐานที่ดี มีสตอรี่หรือเรื่องราวของหุ้นที่น่าสนใจมาก นอกจากนั้นก็อาจจะมีผลประกอบการที่ดูเหมือนจะมีการเติบโตสูงมากและบริษัทเป็น “ผู้ชนะ” คล้าย ๆ กับ “ซุปเปอร์สต็อก” แต่ถ้าวิเคราะห์ดูอย่างรอบคอบและไม่ถูกอิทธิพลของการ “เล่าเรื่อง” ประกอบกับผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นมาก และราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด ก็อาจจะพบว่าบริษัทอาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้นในระยะยาว ซึ่งก็จะทำให้ในที่สุด ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็จะตกลงมาอย่างแรงจนทำให้คนที่เข้าไปเล่นขาดทุนได้ทั้ง ๆ ที่เคยได้กำไรมโหฬารแต่ไม่ยอมขายเพราะยังเชื่อในตัวหุ้นอยู่
ผมเองพยายามและก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นได้สำเร็จ เพราะเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการสำคัญที่สุดของการลงทุนนั่นก็คือ ถ้าหุ้นมีราคาแพงมากเกินไปมาก ผมไม่ซื้อ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมไม่เชื่อสตอรี่ที่ดีเกินไป และก็ไม่ชอบผู้บริหารที่ “โม้” มากเกินไป ดังนั้น เมื่อพบว่าบริษัทมีอาการแบบนั้น ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้น ผมพลาดหุ้นแนวนี้เยอะมากในช่วงอย่างน้อย 6-7 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่า คนที่เข้าไปเล่นหุ้นเหล่านั้นเจ็บตัวกันหนัก หลายคน “คืนเงินกลับไปหมดแล้ว” หลังจากคอร์เนอร์ “แตก” กันเป็นระลอก
กล่าวโดยสรุปทั้งหมดก็คือ โดยปกติแล้ว ผมจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เกลียด และจะซื้อก็ต่อเมื่อหุ้นมีราคาถูกถึงถูกมาก และต้องดูแล้วว่ามันก็ไม่ถึงกับเกลียดมากจนซื้อไม่ได้เลย