เดือนตุลาคม 2566 เพียงเดือนเดียว หุ้นไทยตกลงไปประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ และนับจากต้นปี ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาแล้วถึงประมาณ 15% และถ้าจนถึงสิ้นปีหุ้นยังไม่ดีขึ้น ปี 2566 จะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดนับจากปี 2551 หรือ 15 ปีมาแล้วที่หุ้นไทยตกลงมาหนักถึง 47.5% เนื่องจากวิกฤติซับไพร์ม และเป็นตลาดหุ้นที่ “ตกหนักที่สุดในโลก” ในปีนี้ ซึ่งก็พูดได้ว่าเรากำลังอยู่ใน
“ตลาดหมี”
ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนกันยายน 2566 หรือเพียงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 24% เปอร์เซ็นต์ตามดัชนีตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งก็ทำให้พอร์ตหุ้นเวียตนามของผมเติบโตขึ้นมากและก็สามารถ “ชดเชย” การตกลงมาของหุ้นไทยได้ทั้งหมดและทำให้พอร์ตโดยรวมของผมยังมีกำไรเล็กน้อยแม้ว่าพอร์ตหุ้นไทยที่ใหญ่กว่ามากจะขาดทุน
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ดัชนีตลาดหุ้นทั้งโลกก็เริ่มตกลงมาอย่างแรง หุ้นเวียตนามซึ่งมักจะตามตลาดหุ้นระดับโลกก็ตกลงมาอย่างแรงเช่นเดียวกัน คือลบถึง 16.3% ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงสิ้นตุลาคมและกลายเป็นเดือนที่ “เลือดนองตลาดหุ้น” ทั่วโลก ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามที่เคยทำได้โดดเด่นมากนั้นลดลงมามากและถ้านับจากต้นปีก็เหลือกำไรแค่ 7-8% หุ้น “VI” ที่เคยโดดเด่นมาตั้งแต่ต้นปีหลายตัวตอนนี้ขาดทุนอย่างหนัก
ผลก็คือ พอร์ตหุ้นโดยรวมของผมตกลงมาจนไม่เหลือกำไรแล้วนับจากต้นปีถึงวันนี้ และก็ไม่รู้ว่าถึงสิ้นปี พอร์ตของผมจะรอดจากการขาดทุนได้ไหม สำหรับผมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของการลงทุนก็คือ “อย่าขาดทุน” และในช่วงเวลา 26 ปีตั้งแต่เริ่มลงทุนแบบเต็มที่นั้นก็มีเพียงไม่กี่ปีที่พอร์ตขาดทุน แม้ว่าในช่วง 10 ปีหลังนี้จะต้อง“ลุ้น”อยู่บ่อย ๆ ว่า “ปีนี้จะรอดไหม?” และหลายปีหลังนี้ พอร์ตหุ้นเวียตนามก็มักจะเป็น “Life Saver” หรือเสื้อชูชีพที่คอยช่วยพอร์ตโดยรวมของผมมาตลอด
ประเด็นสำหรับนักลงทุนแบบ VI ที่เราควรจะต้องเรียนรู้ก็คือ เมื่อเกิดภาวะตลาดหุ้นตกต่ำเป็นตลาดหมีนั้น เราควรจะต้องลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร?
คำตอบก็คือ เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ว่า ตลาดที่ตกลงมาเป็นภาวะตลาดหมีนั้น มาจากสาเหตุใด? เป็นเรื่องชั่วคราวหรือยาวนาน? และเราควรจะทำอย่างไรกับพอร์ตที่อาจจะตกลงไปมากแล้ว?
ข้อแรกก็คือจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุว่าอะไรทำให้เกิดตลาดหมีและวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นั้นจะดำเนินต่อไปหรือกำลังจะหยุดแล้วและจะดีขึ้นเมื่อไร เพราะนั่นจะบอกให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างไรที่จะลดหรือบรรเทาความเสียหายจากการตกลงมาของหุ้นที่เราถืออยู่ และในอีกด้านหนึ่งก็คือ การฉวยโอกาสทำกำไรโดยการซื้อหุ้นที่ตกลงมามาก ซึ่งก็จะดีขึ้นเมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นกำลังผ่านไปและเหตุการณ์ดีกำลังจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างชัดเจนก็คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเร็วๆ นี้ ที่เราค่อนข้างมั่นใจว่าคือสาเหตุของการตกลงมาอย่างแรงของหุ้นทั่วโลกสิ่งที่เราจะต้องวิเคราะห์ก็คือ ถ้าการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว โอกาสก็เป็นไปได้ว่า การตกของหุ้นอย่างแรงก็ควรต้องหยุดลง และถ้าเรามั่นใจว่าในไม่ช้าอัตราดอกเบี้ยก็จะลดลง ก็อาจจะเป็นเวลาที่เราจะต้องทยอยซื้อหุ้น เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลงจริง ตลาดหุ้นโดยรวมก็มักจะดีขึ้น ซึ่งก็จะทำให้หุ้นที่เราซื้อปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม นี่ก็คือการดูเฉพาะปัจจัยทางด้านตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสมมติฐานว่าพื้นฐานส่วนตัวของหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับหุ้นรายตัว ถ้าตลาดหุ้นที่เราดูอยู่นั้น มีพื้นฐานที่ดีและไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดหุ้นตกลงมาเป็น “ตลาดหมี” หมดไปและสถานการณ์กลับดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนีตลาดหุ้นนั้นก็น่าจะปรับตัวกลับขึ้นมาได้โดดเด่นเช่นเดิมก่อนที่จะเกิดตลาดหมี ในกรณีของเรื่องดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไปที่ทำให้ตลาดทั่วโลกตกลงมาเร็ว ๆ นี้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นจำนวนมาก เฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐก็จะปรับตัวขึ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเวียตนามที่มักปรับตัวตามหุ้นอเมริกามาตลอด
เหตุหุ้นไทยตกต่ำแย่ที่สุดในโลก
แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย คำถามที่สำคัญก็คือ สาเหตุของตลาดหุ้นที่ตกต่ำระดับ “แย่ที่สุดในโลก” ในปีนี้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นแรงเพียงอย่างเดียว เพราะหุ้นไทยก่อนหน้านี้ก็แทบจะไม่เคยดี ว่าที่จริงไม่ดีมาหลายปีแล้ว และเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่ดีนั้น น่าจะเป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมายาวนานแทบจะถาวร โดยในช่วง 10 ปีมานี้ที่เราโตแค่เฉลี่ยปีละไม่ถึง 2% และแนวโน้มดูเหมือนว่าจะไม่ดีขึ้น เพราะเรากำลังเป็นสังคมที่คนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ไปไหนมาถึง 10 ปีเช่นกัน
พูดง่ายๆก็คือ ตลาดหุ้นไทยที่ตกต่ำลงเป็นตลาดหมีครั้งนี้นั้น มาจาก 2 สาเหตุคือ จากปัญหาภายในของไทยเองที่ต่อเนื่องมายาวนานและก็ยังไม่เห็นว่าจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างไรในเวลาอันสั้น และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาจาก “โลก” ในเรื่องของดอกเบี้ยและความถดถอยของเศรษฐกิจที่ตามมา ซึ่งเข้ามาซ้ำเติม และอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหุ้นไทยถึงแย่มากที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงได้เร็ว ผมก็คิดว่ามีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยก็จะต้องดีขึ้น แม้ว่าจะดีขึ้นไม่เท่ากับตลาดหุ้นอื่นที่ไม่ได้มีปัญหาของตนเองอยู่แล้ว
หุ้นไทยยังไม่ถูก เตือนอันตราย"หุ้นเก็งกำไรหนัก"
การเกิดขึ้นของตลาดหมีรอบนี้นั้น ผมคิดว่ามันได้ทำลายภาวะ “การเก็งกำไร” ในตลาดหุ้นไทยลงไปมาก แต่ถ้าวัดจากค่า PE ของหุ้นรายตัวและของตลาดก็ยังไม่ถูกเลย และหุ้นหลายตัวที่มีคุณภาพดีพอใช้ก็ยังมีค่า PE ที่สูงเกินไป เพราะดูแล้วการเติบโตของธุรกิจยังคงต่ำอยู่อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักของไทย
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว หุ้นเก็งกำไรหนักที่มีค่า PE สูงลิ่วและเป็นแนว “หุ้นที่อยู่ในคอร์เนอร์” นั้น แม้ว่าราคาหุ้นอาจจะตกลงมามากก็จะยังอันตรายมากที่จะลงทุน เพราะแม้ว่าหลายตัวคอร์เนอร์จะ “แตก” ไปแล้ว แต่หลายตัวก็ยังอยู่ในคอร์เนอร์อยู่ การที่หุ้นอาจจะตกลงมาแรงมากในระยะต่อไปก็เป็นไปได้สูง เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเศรษฐกิจโลกและไทยไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่คาด
หุ้น IPO ที่ต่ำกว่าจองถึงกว่า 30-40% ตั้งแต่เข้าซื้อขายวันแรกหลายตัวในช่วง “ตลาดหมี” 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสัญญาณที่เตือนว่า ไม่ควรเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ในส่วนของหุ้นพื้นฐานที่มีความมั่นคงทางธุรกิจสูงและทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสูงและมีราคาหุ้นที่ค่อนข้างถูก เช่นมีค่า PE ปกติไม่เกิน 10 เท่าและมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอประมาณ 3-4% ต่อปีขึ้นไป ผมคิดว่าหากมีราคาตกลงมาหรือแม้ว่าราคาก็ไม่ได้ตกลงมาเลย น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ลงทุนได้ เพราะผมคิดว่าเมื่อภาวะเลวร้ายในระดับโลกลดลงและเห็นได้ว่ากำลังดีขึ้น ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะดีขึ้นได้ นำโดยหุ้นเหล่านี้ แม้ว่าภาวะภายในประเทศไทยเองก็ยังไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก
คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามหรือกำลังคิดว่าจะลงทุน ตลาดหมีรอบนี้น่าจะเป็นโอกาสที่จะเข้าซื้อหุ้นที่ตกลงมาอย่างหนัก หรือหุ้นที่ไม่ได้ตกมากแต่หาซื้อได้ยากเนื่องจากเป็นหุ้นที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศเต็ม เพราะปัญหาการตกลงมาของหุ้นเวียตนามเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงมากซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจเวียตนามด้วย หากปัญหานี้ลดลง ตลาดเวียตนามก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว