กรณีกระทรวงการคลังเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน Thailand ESG Fund หรือ TESG เพื่อสนับสนุนการออมระยะยาว เป้าหมายลงทุนในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็น ESG และตราสารหนี้
โดยกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนที่ซื้อกองทุนดังกล่าวสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อกองทุนไปลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท โดยใช้ระยะเวลาในการลงทุน 8 ปีเต็ม
คาดว่ากองทุน TESG จะเริ่มเปิดให้ลงทุนได้ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาลงทุนได้รับการลดหย่อนภาษีในเดือนมี.ค.2567 ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ประกาศผลหุ้นยั่งยืนประจำปี 2566 SET ESG Ratings จำนวน 193 บริษัท แบ่งเป็น
หุ้นยั่งยืนประจำปี 2566 SET ESG Ratings จำนวน 193 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 1 พฤศจิกายน 2566)
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส หรือ ASPS ประเมินว่าหาก ESG FUND ได้รับการอนุมัติ จะเป็นภาพบวกต่อ SET INDEX ให้มีมูลค่าซื้อขายกลับมาคึกคักอีกครั้ง คาดหวังเม็ดเงินหนุนช่วงที่เหลือของปีราว 2 - 7 หมื่นล้านบาท เฉกเช่นเดียวกับช่วงที่มีกองทุนประหยัดภาษี LTF ที่มีมูลค่าเม็ดเงินหนุนตลาดกว่า 6 - 7 หมื่นล้านบาท/ปี (เฉพาะเดือน ธ.ค. มีมูลค่าเม็ดเงินหนุนตลาดกว่า 2 หมื่นล้านบาท)
สำหรับ SET ESG Ratings คัดเลือกจาก บจ. ที่มีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนผ่าน 50%ในแต่ละมิติ (มิติบรรษัทภิบาลเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม) และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
เช่น เป็นบริษัทที่มีผลการประเมิน CGR 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากหน่วยงานทางการ มีผลกำไรสุทธิ 3 ใน 5 ปีย้อนหลัง เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิกในดัชนี SETESG เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังใช้ในการคัดเลือกรางวัล SET Awards กลุ่ม Sustainability Excellence เพื่อเฟ้นหา บจ. ต้นแบบด้านความยั่งยืน
จากผลการประเมินความยั่งยืนปี 2566 พบว่า บจ. ส่วนใหญ่มีการดำเนินการและสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ดีขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า/พลังงาน ลดการใช้น้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บจ. ยังต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชนในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน และการวัดผลสำเร็จที่ได้จากโครงการพัฒนาชุมชนและสังคม