นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน จึงได้ออกประกาศขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้งและแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้เป็นกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2567
โดยมาตรการระยะสั้นนี้ จะช่วยลดภาระของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ประสงค์จะบริหารจัดการ SRI Fund ขณะเดียวกันก็จะช่วยผลักดันให้เม็ดเงินลงทุนถูกจัดสรรไปยังผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกเสนอขายโดยกิจการหรือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในไทย ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อันนำไปสู่การพัฒนาของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติต่อไป โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567”
การขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ที่มุ่งหมายให้มีระบบนิเวศในตลาดทุนที่พร้อมรองรับและเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ บลจ. ผนวกปัจจัยด้านความยั่งยืนในการบริหารจัดการลงทุน และเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลงทุนในด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน SRI Fund เพื่อขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดทุนไทยต่อไป
หมายเหตุ :
* กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลักสากล เช่น SDGs UN Global Compact เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing)
** การยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบด้วยค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง SRI Fund 100,000 บาท ต่อกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้เป็น SRI Fund ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อกองทุนรวม