นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า บลจ.กรุงศรี เสนอขายกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ "Thai ESG Fund" หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ในชื่อกองทุนเปิดกรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ทไทยเพื่อความยั่งยืน (KFTHAIESG) มีนโยบายเน้นลงทุนหุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ผสมผสานระหว่างการลงทุนแบบ passive และ active management
โดยสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนประมาณ 90% จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนของพอร์ตรวมออกมาใกล้เคียงกับผลตอบแทนดัชนี SET ESG ที่สุด และอีก 10% จะใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม มีให้เลือกลงทุนได้ 2 แบบคือกองทุน KFTHAIESGA ไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลและ KFTHAIESGD มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล โดยเสนอขายครั้งแรก 8 -18 ธันวาคม 2566 ลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท
ทั้งนี้ กองทุน KFTHAIESG จะแยกวงเงินลดหย่อนต่างหาก ไม่รวมกับเงินลงทุนใน SSF / RMF และการลงทุนเพื่อเกษียณอายุอื่นๆ นักลงทุนที่ลงทุนเต็มสิทธิ์ในกองทุน SSF / RMF แล้ว สามารถลงทุนเพิ่มในกองทุน KFTHAIESG เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยมีระยะเวลาถือครอง 8 ปี นับจากวันที่ลงทุน
"บลจ.กรุงศรี มองว่าปัจจุบันเป็นช่วงที่ดีในการทยอยสะสมหุ้นไทย เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย การทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักทั่วโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น ESG ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ"
สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ ESG เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีการจัดสรรเงินลงทุนในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านภาครัฐและภาคธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนตามกรอบ ESG มากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งบริษัทจัดอันดับระดับโลกก็มีการให้คะแนนด้าน ESG แก่กองทุนต่างๆด้วย เช่น Morningstar Sustainability rating และ MSCI ESG fund เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 พบว่ามีบริษัทที่ถูกจัดอยู่ใน SETTHSI Index (ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น SETESG Index ในวันที่ 6 พ.ย. 66) มีจำนวน 115 บริษัท และมี Market Cap รวมกันประมาณ 12.38 ล้านล้านบาท เทียบกับ Market Cap รวมของ SET Index ซึ่งอยู่ที่ 19.21 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ของไทยให้ความสำคัญกับ ESG และมีสภาพคล่องในการลงทุนที่สูงมาก
ในมุมของผลตอบแทน ดัชนีผลตอบแทนรวมของ SETESG (SETESG TRI) ก็ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) ถ้าดูผลตอบแทนย้อนหลังระยะยาวสัก 3 ปี จะเห็นว่า SETESG TRI มีผลตอบแทนอยู่ที่ 10.87% ต่อปี ดัชนี SET TRI อยู่ที่ 7.99% ถ้าดูย้อนหลัง 5 ปี SETESG TRI มีผลตอบแทน อยู่ที่ -0.32% ต่อปี ดัชนี SET TRI อยู่ที่ -0.78%" (ที่มา :ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 /ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)
การนำปัจจัยด้าน ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมีส่วนช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และลดความเสี่ยงของการลงทุนได้ เช่น บริษัทที่มีการปล่อยมลภาวะน้อย จะประสบปัญหาด้านกฏระเบียบน้อยกว่า และมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากชุมชนน้อยกว่า ดังนั้น โอกาสที่ราคาหุ้นจะผันผวนก็จะน้อยกว่าบริษัทที่ปล่อยมลภาวะสูง เพราะอาจถูกทางการใช้กฏเกณฑ์ต่างๆเข้ามาควบคุม ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างเต็มที่ รวมถึงอาจจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถลดการปล่อยมลภาวะลงให้เป็นไปตามเกณฑ์
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดซึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้แก่ การที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ในขณะที่บริษัทผลิตไฟฟ้าในจีนหลายแห่งยังคงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้บริษัทผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องหยุดการผลิตเป็นช่วงๆเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เป็นผลให้ภาคการผลิตของจีนหยุดชะงัก เป็นต้น