ก.ล.ต. เผยสถิติแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนหลอกลงทุน” 1 เดือน ทะลุ 200 บัญชี

12 ธ.ค. 2566 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 07:54 น.

ก.ล.ต.เปิดสถิติการแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี และดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงดังกล่าวไปแล้ว 175 บัญชี

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยสถิติการแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนในตลาดทุนผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร 1207 กด 22 ระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/scamalert และอีเมล [email protected] ภายใต้ “โครงการร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยประสานงานกับ Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้ง LINE (ประเทศไทย) ปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพบนแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่โครงการ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เปิดตัวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสว่า มีสื่อหลอกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี แบ่งเป็นแพลตฟอร์ม Facebook 192 บัญชี Instagram 1 บัญชี และ LINE 9 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566) เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลแล้ว ได้ประสานแจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพิจารณาดำเนินการปิดกั้นบัญชีโดยเร็ว ภายใต้กรอบเวลาเฉลี่ยภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่ได้รับแจ้ง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการปิดไปแล้ว 175 บัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ส่วนที่เหลือเป็นการแจ้งเข้ามาใหม่และอยู่ระหว่างการดำเนินการปิด   
 

สำหรับการแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนผ่านสื่อสังคมออนไลน์พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแอบอ้างใช้ชื่อ โลโก้ และภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. หน่วยงานและบริษัท รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดทุน การปลอมแปลงใบอนุญาต และอ้างว่ารับรองโดย ก.ล.ต. และหน่วยงานทางการ แอบอ้างใช้ชื่อและภาพบุคคลกรในตลาดทุน รวมถึงการชักชวนลงทุนในหุ้นกองทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยข้อเสนอที่ให้ลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้ มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังดำเนินการป้องปรามเรื่องหลอกลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้  

  • (1) ขึ้นเตือนบนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. 
  • (2) ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน 
  • (3) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนเฉพาะกรณีที่แอบอ้างชื่อ/โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต.
  • (4) ดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง หรืออาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ 
  • (5) ดำเนินการส่งเรื่องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาดำเนินการกรณีชักชวนลงทุนใน Forex หรือการแจ้งเบาะแสการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ 
  • (6) ดำเนินการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. 

 

ก.ล.ต. เผยสถิติแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนหลอกลงทุน” 1 เดือน ทะลุ 200 บัญชี

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ด้วยการสอบถามโดยตรงกับบริษัทหรือบุคคลที่ถูกแอบอ้าง รวมทั้งไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือไม่โอนเงินเข้าชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา สำหรับการแจ้งเบาะแสให้ได้ผล ขอให้แจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด เช่น 

(1) เรื่องหลอกลงทุนในตลาดทุน ติดต่อสายด่วน ก.ล.ต. โทร 1207 กด 22 

(2) เรื่องหลอกลวงออนไลน์เกี่ยวกับการฝาก ถอน ชำระเงิน บัตรเครดิต และสินเชื่อ ติดต่อสายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 

(3) เรื่องการเงินนอกระบบที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ติดต่อสายด่วน 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 

(4) อาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่น ๆ การอายัดบัญชีปลายทางชั่วคราว (บัญชีม้า) ติดต่อสายด่วน 1441 ศูนย์ AOC เป็นต้น