KEY
POINTS
โบรกมองกลุ่มอสังหาฯ ปี 66 กำไรสุทธิรวมกลุ่มอสังหาฯ แตะ 2.94 หมื่นล้านบาท ตามยอดโอนและรายได้ที่ชะลอตัว
ในปี 2567 คาดกำไรกลุ่มอสังหาฯ เติบโต 13.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากการระบายสินค้าคงคลังและเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน
ชู SIRI AP LH BRI และ SPALI ติดโผหุ้นเด่นกลุ่มอสังหาฯ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) ภายใต้ Coverage ของทางฝ่าย ในปี 2566 คาดว่าตัวเลขของกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ระดับ 29,470 ล้านบาท ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่ฐานของกำไรสุทธิรวมกลุ่มฯ อยู่ที่ระดับ 32,850 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงเป็นไปตามรายได้ที่ชะลอตัว
แม้ว่าในปี 2566 จะเป็นปีที่ปัจจัยโรคระบาดคลายตัวลงมาก และเริ่มกลับมามีสัญญาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีบ้างแล้ว แต่ด้วยกำลังซื้อที่อาจไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก รวมถึงการรัดเข็มขัดการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดการปฎิเสธสินเชื่อของกลุ่มอสังหาฯ ยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งเป็นอุปสรรค์ต่อการเติบโตของกลุ่มฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2567 มองภาพรวมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน หรืออาจมีการเติบโตจากฐานที่ต่ำ หลักๆ เป็นผลมาจากดีมานด์โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดระดับบนที่ในปีก่อนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างการเติบโตได้ค่อนข้างดี แต่ในปีนี้กลับดูเริ่มตึงตัว ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนในอสังหาฯ ของตลาดบนมีไปค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่ตลาดระดับกลางและล่าง รวมถึงคอนโดมิเนียมยังกลับมาฟื้นตัวไม่ได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร
ทางฝ่ายยังมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/2566 และผลการดำเนินงานรวมทั้งปี 2566 ของ SIRI AP และ LH โดยประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ระดับ 2.20 บาท 16.00 บาท และ 10.00 บาท ตามลำดับ
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทางฝ่ายคาดการณ์ยอดขายในไตรมาส 4/2566 รวมของบริษัทฯ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) ภายใต้ Coverage ยังมีการเติบโตได้ดีทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน จากการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด (40.6% ของแผนทั้งปี) และการใช้กลยุทธ์ทางราคาในการกระตุ้นยอดขายใหม่ๆ
โดยกำไรกลุ่มฯ เติบโตจากไตรมาสก่อน จากการจัดโปรโมชัน โครงการแนวราบเปิดใหม่ และ Backlog แนวสูงรอโอน แต่คาดชะลอตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากฐานสูงเร่งโอนก่อนการผ่อนคลายมาตรการ LTV สิ้นสุด ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดกำไรกลุ่มฯ เติบโต 13.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากการระบายสินค้าคงคลังและเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน
ด้าน Valuation ของกลุ่มฯ มี PER67 เฉลี่ยเพียง 6.9 เท่า และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยปี 2567 สูงถึง 7.2% ต่อปี รวมถึงมีประเด็นที่น่าติดตามอย่างมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลประกอบการปี 2567 มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาขึ้นต้น ทำให้ทางฝ่ายจึงคงน้ำหนักลงทุนกลุ่ม “เท่ากับตลาด”
ทั้งนี้ ทางฝ่ายแนะนำหุ้นเด่น Top Pick คือ BRI และ SPALI โดยทางฝ่าย BRI (ราคาเป้าหมายที่ระดับ 10.90 บาท) คาดกำไรไตรมาส 4/66 เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และกำไรทั้งปี 2566 เติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทำสถิติสูงสุดใหม่ โดย Valuation ปัจจุบันซื้อขายบน PER67 เพียง 5.1 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 6.9 เท่า อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเงินปันผลในช่วงครึ่งหลังปี 2566 คิดเป็น Div. Yield สูงถึง 7.2%
ในส่วนของ SPALI (ราคาเป้าหมายที่ระดับ 23.80 บาท) ทางฝ่ายคาดกำไรในไตรมาส 4/2566 เติบโตทั้งเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน แต่อาจชะลอลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากฐานสูง และคาดปี 2567 พลิกเติบโต 16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จาก Inventory หนาแน่น และมี Upside ที่ยังไม่ได้รวมในประมาณการจากส่วนแบ่งกำไรการลงทุนในออสเตรเลียเข้ามาช่วยหนุนตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป
และด้วยกลุ่มหุ้นเด่นที่ทาง บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด แนะนำมานั้น สอดคล้องไปในทิศทางเดียวันกับอีก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ที่เผยว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/2566 ของ SIRI อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 16.2% จากไตรมาสก่อน และ 27.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยคาดรายได้รวมที่ 9.3 พันล้านบาท Flat จากไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลง 27.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งจากการรับตัวลดลงของกำไรและรายได้เป็นผลมาจากฐานปีก่อนที่สูง เพราะมีสัดส่วนการโอนโครงการ Burasiri และ Narasiri ที่กรุงเทพกรีฑาอยู่สูง
ยอด Presales ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 3.75 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 2.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และตํ่ากว่าเป้าที่ 4.0 หมื่นล้านบาท โดยปี 2566 มีการเปิดตัวโครงการทั้งหมด 44 โครงการ มูลค่ารวม 6.51 หมื่นล้านบาท คาดกำไรปี 2567-2568 ไว้ที่ 4.86 และ 4.9 พันล้านบาท ตามลำดับ สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2567 คาดใกล้เคียงปี 2566 ที่ 6.5-7.0 หมื่นล้านบาท พร้อมคาด Dividend Yield ปี 2566 ที่ 7.16% จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ แนะนํา "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 2.10 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนะนำ “ซื้อ” AP ราคาเป้าหมาย 14.40 บาท เนื่องจากเงินปันผลโดดเด่น ฝ่ายวิจัยคาดจ่าย 0.70 าทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend yield สูงถึง 6% ขณะเดียวกัน PE ปัจจุบันต่ำเพียง 5.6 เท่า ส่วนแนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/2566 คาดขยายตัว 10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ลด 20-30% จากไตรมาสก่อน เป็น 1.2-1.3 พันล้านบาท กำไรทั้งปีในปี 2566-2567 น่าจะโตและทำจุดสูงสุดได้ต่อ
ยอด Presales ในไตรมาส 4/2566 ทำ new high รายไตรมาสที่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากความสำเร็จของการเปิดตัว 2 โครงการใหม่ที่ทำยอดขายกว่า 6 พันล้านบาท แม้ว่า Presales ทั้งปีจะเพิ่มเพียง 2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน เพราะถูกฉุดจากตลาดแนวราบที่ซบเซา แต่ยังสามารถทำ new high ได้ อย่างไรก็ดี ในด้านเทคนิกฝ่ายวิจัยประเมินกรอบแนวรับไว้ที่ระดับ 11.30 บาท และกรอบแนวต้านไว้ที่ระดับ 11.80 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า จากการที่ทาง LH เผยผลการดำเนินงานในปี 2566 อ่อนแอ แม้ว่าการเปิดตัวโครงการจะเป็นไปตามแผน แต่ยอดขายในกลุ่มระดับ high-end ยังค่อนข้างช้าในครึ่งแรกปี 2566 ทำให้ยากสำหรับครึ่งปีหลังที่จะตามทัน เมื่อปีที่แล้ว LH ได้เสร็จสิ้นการขายทรัพย์สิน 2 รายการให้กับ LHHOTEL และตั้งเป้าอัดฉีดทรัพย์สิน 1 ครั้งในปี 2567 (ขยายห้างสรรพสินค้า 1 แห่งในพัทยาเข้า LHSC)
บริษัทขาย Backlog บางส่วนในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้มียอดยกเลิกสุทธิอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มระดับ high-end ซึ่งมียอดจองสุทธิลดลง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของธนาคารในปีนี้เกือบ 10% เพิ่มขึ้นจากธนาคารเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อ และเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวลง โครงการระดับ high-end อย่าง VIVE และนันทวัน ยังคงมียูนิตที่ต้องการขาย หากโครงการดังกล่าวมียอดขายฟื้นตัวก็จะถูกนับเป็นยอดจองใหม่
ส่วนในปี 2567 ในช่วงต้นปี LH มีแผนเปิดตัว 11 โครงการ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท (ปี 2566 LH เปิดตัว 17 โครงการ มูลค่ารวม 4.35 หมื่นล้านบาท) โดยเน้นที่กลุ่มราคา 15 ล้านบาท/ยูนิต ซึ่งเป็นสองเท่าของราคาในปีก่อน อีกทั้ง บริษัทยังได้จัดสรรงบประมาณไว้ 6.5 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนสินทรัพย์ให้เช่าในปีนี้ ที่รวมถึงการซื้อสินทรัพย์ในสหรัฐฯ 1 รายการด้วย เป้าหมายการเติบโตของรายได้ค่าเช่าของ LH ในปี 2567 อยู่ในระดับกลางๆ ที่ 11% เทียบกับการเติบโต 48% จากปีก่อน ในปี 2566 (7.2 พันล้านบาท)
แม้ว่าเป้าหมายสำหรับปีนี้อาจถูกมองในแง่ดีในแง่ของการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการเติบโตของยอดจองที่ 34.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ผลกระทบจากฐานต่ำน่าจะให้การสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่ได้พิสูจน์ว่ายอดขายของบริษัทซึ่งอ่อนแอในปี 2566 กำลังฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และด้วยเหตุนี้ตลาดจึงยังคงมีความกังวล โดยรอการเปิดตัวโครงการ low-rise ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำ “ถือ” สำหรับ LH โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 9.40 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) คาดยอด Presales ไตรมาส 4 ของกลุ่มอสังหาฯ อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ 20% จากไตรมาสก่อน หนุนโดยการเปิดตัวคอนโดที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หากหักยอด Presales ของคอนโดออกแล้วจะพบว่า ตลาดบ้านแนวราบปรับตัวลดลง ถึงแม้จะเป็น High season ของกลุ่มอสังหาฯ ทำให้มองว่าภาพตลาดแนวราบเริ่มเข้าสู่การชะลอตัวเรียบร้อยแล้ว
ทางฝ่ายประเมินกำไรหลักรวมของกลุ่มในไตรมาส 4 ที่ 6.3 พันล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยมองประเด็นกดดันจากยอด cancellation ที่ปรับตัวสูงขึ้น และยอดขายใหม่ที่ชะลอตัวลง สำหรับแผนธุรกิจที่กำลังจะเริ่มเปิดเผยออกมา เรามองว่า ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จะเข้าสู่ช่วงซบเซา ถึงแม้บางบริษัทจะตั้งเป้ายอดการเติบโต สำหรับ Fundamental View ทางฝ่ายยังคงให้คำแนะนำ UNDERWEIGHT กับกลุ่มอสังหาฯ