จากการเฝ้าสังเกตดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน จับสัญญาณได้ว่านักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังคงมีการเทขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 19 มกราคม 2567 มูลค่ารวมกว่า -17,264.00 ล้านบาท ส่งผลกระทบกดดันหุ้น Big Cap
(อ้างอิงข้อมูลบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 มกราคม 2567)
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่าแรงการเทขายของต่างชาติที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (19 ม.ค.67) ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เชื่อว่าส่วนมากจะมาจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น กลุ่มแบงก์ ที่มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เป็นผลมาจากความคาดหวังต่อผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/2566 จะออกมาดี ประกอบกับกลุ่มแบงก์จะเป็นกลุ่มแรกที่มีการประกาศงบการเงิน ทำให้เมื่อผลที่ออกมาไม่ดีตามคาดการณ์จึงเกิดการเทขาย และเมื่อเห็นต่างชาติขายออกนักลงทุนในประเทศก็มีการขายออกตาม
ส่งผลให้ไปกดดันต่อราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่โดยส่วนตัวมองว่าผลประกอบการของแบงก์ที่ออกมาไม่ได้ต่างจากที่ทางฝ่ายคาดการณ์ไว้เท่าไหร่นักว่าไตรมาส 4/2566 จะออกมาไม่ดี ด้วยในช่วงที่ผ่านมาหนี้สงสัยจะสูญได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น หลายธุรกิจที่มาขอเงินกู้ไม่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ รวมถึงความกังวลในเรื่องของหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนชำระหนี้ออกไป ทำให้สถาบันการเงินที่ออกสินเชื่อมีความจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มพลังงานก็มีแรงกดดันมาจากประเด็นที่ทาง PTT ได้มีการประกาศเรื่องผลกระทบการดำเนินงานของมาตรการนโยบายลดต้นทุนค่าไฟฟ้า มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2567 โดยทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Single Gas Pool) และ เงินสมทบจากการขาดแคลนก๊าซ ในส่วนของเงินสมทบจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเพื่อช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติ ตามที่คณะกรรมการ PTT เห็นชอบที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
"จำได้ว่าเชฟรอน ผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซเอราวัณจนถึงสิ้นปี 2565 ได้ชดเชยให้ PTT ด้วยมูลค่ารวม 4.3 พันล้านบาท สำหรับการผลิต/อุปทานก๊าซที่ต่ำกว่าข้อตกลงระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงธันวาคม 2565 โดยการชดเชยนี้คาดว่าจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซในการผลิตไฟฟ้าลดลงในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567"
ส่วนกลุ่มค้าปลีกมองว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น CPN CRC มีมาอย่างต่อเนื่องจากความกังวลกรณีบริษัท Cambridge Properties Holding Limited เจ้าของห้างสรรพสินค้า Selfridges ขอการสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งเป็นบริษัทแม่ หลังจาก Signa Prime Selection AG หุ้นส่วนอีกรายยื่นล้มละลายไปเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 กดดันทำให้ราคาหุ้นของทั้ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งมองว่ากรณีนี้เป็นการตื่นตูมและมโนไปเองของหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ายอดขายของ CRC ในยุโรปและเวียดนามมีการปรับตัวลดลงในปี 2566 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ หากว่าจะถามเฉพาะเจาะจงว่าทำไมถึงเกิดแรงขายออกของต่างชาติในหุ้นตัวนั้นๆ คงจะอธิบายกันลำบาก เพราะมันไม่มีเหตุผลเลย แต่ก็มองว่าอาจเป็นไปได้ที่มาจากเหตุผลเฉพาะรายกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้นักลงทุนเกิดการตื่นตระหนกมากจนเกิดไป