ทริสเรทติ้ง เปิดสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไทยปี 2566

24 ม.ค. 2567 | 23:09 น.

ทริสเรทติ้ง เผยตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2566 เผชิญ 2 ปัจจัยท้าทาย "ดอกเบี้ยขาขึ้น และความเชื่อมั่นนักลงทุน" ส่งผลให้หุ้นกู้ออกใหม่หดตัว 20% มาอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาท ขณะที่อัตราผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสู่ระดับ 0.93% สูงเป็นรองแค่ปี 63

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่ผลการศึกษาสถิติการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ในประเทศไทยในรอบ 10 ปี โดยล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมีลูกค้าที่เป็นบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตคงอยู่ตลอดทั้งปีจำนวนทั้งสิ้น 215 ราย (ไม่รวมบริษัทที่ยกเลิกอันดับเครดิต 9 รายและบริษัทที่เพิ่งได้รับอันดับเครดิต 17 รายในปีดังกล่าว) โดยมีบริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 12 ราย และลดอันดับเครดิต 25 ราย รวมทั้งที่ผิดนัดชำระหนี้อีก 2 ราย ซึ่งทำให้สัดส่วนของบริษัทที่ได้รับการปรับลดอันดับเครดิตและที่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อเทียบกับบริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2.25 เท่าจาก 0.76 เท่าในปี 2565

ทริสเรทติ้ง เปิดสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไทยปี 2566

ในขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในปี 2566 นั้นอยู่ที่ระดับ 0.93% ซึ่งรองจากปี 2563 ที่อยู่ในระดับสูงสุดที่ 1.07% ตามมาคือปี 2559 (0.80%) ปี 2560 (0.73%) และปี 2561 (0.62%) ส่วนในปี 2562 และระหว่างปี 2564-2565 นั้น ทริสเรทติ้งไม่มีลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้เลย (0.00%) เช่นเดียวกับในช่วงระหว่างปี 2557-2558
 

หุ้นกู้ปี 66 เผชิญความท้าทาย "ดบ.ขาขึ้น- บจ.รายใหญ่ผิดนัด "ฉุดความเชื่อมั่น"

โดยจากข้อมูลของทริสเรทติ้งพบว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยในปี 2566 ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หรือความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนภายหลังจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ออกตราสารหนี้รายใหญ่รายหนึ่งซึ่งผู้บริหารของบริษัทถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตเกี่ยวกับการตกแต่งข้อมูลทางบัญชี กรณีดังกล่าวส่งผลให้ตราสารหนี้ใหม่ที่ออก (รวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่ออกเป็นสกุลเงินบาท) และจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาทจาก 1.24 ล้านล้านบาทในปี 2565 หรือลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวคงค้างของภาคเอกชน ณ สิ้นปี 2566 นั้นยังคงเพิ่มขึ้น 7.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นที่จำนวน 4.49 ล้านล้านบาท 

ในปี 2566 ทริสเรทติ้งมีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 254 ราย ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ดังกล่าวประกอบด้วยบริษัททั่วไปจำนวน 192 ราย สถาบันการเงิน 58 ราย ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อน (Structured Finance Issuer) 1 ราย และอีก 3 รายเป็นผู้ออกตราสารหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ (Supranational Institution) 
 

บริษัทผิดนัดชำระหนี้รอบ 3 ทศวรรษ สะสม 26 ราย

ในการศึกษาสถิติการผิดนัดชำระหนี้ (Default Study) นั้น ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนและผู้ออกตราสารหนี้ภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งเป็นบริษัททั่วไปจำนวนรวม 6 รายและสถาบันการเงินอีก 3 รายที่ออกแต่เฉพาะตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกันเต็มจำนวน ดังนั้น การศึกษานี้จึงใช้ข้อมูลของผู้ออกตราสารหนี้จำนวนทั้งสิ้น 241 ราย ซึ่งจำแนกออกเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 186 รายและสถาบันการเงินจำนวน 55 ราย 

เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ทริสเรทติ้งได้เริ่มให้บริการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้เมื่อราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2566 นั้น จำนวนบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26 ราย (รวมผู้ออกตราสารหนี้ 5 รายที่ผิดนัดชำระหนี้หลังจากยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้วเกินกว่า 1 ปี) จาก 24 รายในช่วงระหว่างปี 2537-2563 ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 นั้นไม่มีบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในช่วงระหว่างปี 2537-2566 เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 0.840% 1.799% และ 2.582% จากระดับ 0.832% 1.785% และ 2.592% ในช่วงระหว่างปี 2537-2565 ตามลำดับ

ทริสเรทติ้ง เปิดสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไทยปี 2566

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลสถิติอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของทริสเรทติ้งเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันจัดอันดับเครดิตรายอื่น ๆ ในภูมิภาค ทริสเรทติ้งจึงได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลสถิติการผิดนัดชำระหนี้ของทริสเรทติ้งกับของสถาบันจัดอันดับเครดิตสำคัญรายอื่น ๆ ในอาเซียนซึ่งได้แก่  MARC Ratings Berhad (MARC) และ RAM Rating Services Berhad (RAM) ของประเทศมาเลเซีย รวมทั้ง PT Pemeringkat Efek Indonesia (PEFINDO) ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลปรากฏว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมของทริสเรทติ้งโดยรวมนั้นค่อนข้างต่ำในเกือบทุกระดับอันดับเครดิตยกเว้นเพียงกลุ่มที่ได้อันดับเครดิตที่ระดับ “AA” เท่านั้นที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ 2 รายมีการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540-2541 ในขณะเดียวกัน จำนวนบริษัทที่ออกตราสารในกลุ่มนี้ก็มีจำนวนน้อยด้วย ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งพบว่าการกระจายตัวของอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งนั้นมีความสมมาตรมากกว่าของสถาบันจัดอันดับเครดิตเหล่านี้ โดยบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับ “A” และระดับ “BBB” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35% เท่า ๆ กัน ในขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตรายอื่น ๆ มีสัดส่วนของบริษัทที่ได้อันดับเครดิตที่ระดับ “A” หรือสูงกว่าอยู่ในสัดส่วนมากกว่า 80% 

 

ทริสเรทติ้ง เปิดสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไทยปี 2566 ทริสเรทติ้ง เปิดสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไทยปี 2566