กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "ห้อง STARK ตัวจริง" เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล(24 มกราคม 2567) เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้มีการตั้งคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อการดําเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิดกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ,นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,นางนลินี มหาขันธ์ ผอ.ศบช.สปน. และนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สปน. เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มผู้เสียหาย นำโดย ทนายจิณณะ แย้มอ่วม และตัวแทนผู้เสียหายอีกราว 40 คน
รายละเอียดหนังสือขอความเป็นธรรมได้กล่าวถึงข้อกังวลใจต่อการดําเนินการ และการทําคําสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ในคดีเกี่ยวกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พร้อมระบุประเด็นที่เคลือบแคลงสงสัย และขอให้มีการตรวจสอบเอาไว้ 9 ข้อ ดังนี้
1. ประเด็นแห่งคดีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สอบสวนยังไม่ครบถ้วนในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือไม่
2. การสั่งคดีของพนักงานอัยการ ไม่ปรากฏว่ามีการพิจารณาประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการสั่งคดีที่ยังไม่ละเอียดรอบคอบอย่างเพียงพอหรือไม่
3. เหตุใดอัยการจึงสั่งฟ้องเพียงนิติบุคคล 5 บริษัท โดยไม่มีชื่อกรรมการ ,ผู้บริหาร ,
คณะกรรมการ ,เลขานุการ หรือตัวการร่วม ,ผู้ก่อ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนช่วยเหลือที่ร่วม หรือมีส่วนกระทําความผิดให้ครบถ้วน ทั้งที่เมื่อนิติบุคคลกระทําความผิด ผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ซึ่งแสดงออกถึงเจตนาและการกระทําแทน ย่อมมีส่วนต้องร่วมรับผิดด้วย
4. กลุ่มผู้เสียหายเห็นว่า อัยการสั่งสํานวนคดีไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายหลายประการ หรือไม่อันเป็นเหตุที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง เนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชินวัฒน์ เป็นกรรมการ STARK ,เป็นกรรมการบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) และบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการตกแต่งบัญชีของบริษัททั้ง 3 แล้ว
ประกอบกับนายชินวัฒน์ เป็นผู้ลงนามรับรองข้อมูลในหนังสือชี้ชวน “หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอเปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ชุดที่ 1 ครบกําหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2566 และชุดที่ 2 ครบกําหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2567 อีกทั้งจากคํารับสารภาพของนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่ถูกนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และนายชินวัฒน์ สั่งให้แต่งบัญชีเพื่อหวังปั่นราคาหุ้น
5. ไม่มีการขยายผลเพื่อเอาผิดกับบุคคล และนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งให้โอนเงิน รับโอนเงิน เพื่อการตกแต่งทางบัญชี ตามเส้นทางการเงินของ ปปง.
6. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแสวงหาข้อมูลในส่วนของผู้ทําบัญชี ผู้มีหน้าที่ทําบัญชี และผู้สอบบัญชีซึ่งมีความผิดในฐานะผู้มีวิชาชีพทําการรับรอง หรือจัดทําเอกสารที่เป็นเท็จ หรือมีการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไปและกฎหมายเฉพาะ
7. ไม่ปรากฏว่ามีการติดตามเส้นทางการเงินว่าในท้ายที่สุดครอบครองหรือยึดถือไว้โดยใคร หรือแปรสภาพไปเป็นทรัพย์สินอะไร และเหตุใดจึงไม่มีการร้องขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย ปปง. และร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว
8. เหตุใดไม่มีการสอบสวนหรือสั่งฟ้อง กรรมการของ STARK และบริษัทย่อย ชุดปัจจุบัน ซึ่งตามหน้าที่ที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/7, 89/24, 89/9, 89/10 ประกอบกับมาตรา 281/2 ซึ่งมีหน้าที่ในการติดตาม และดําเนินการกับผู้กระทําความผิด ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
แต่ยังไม่พบว่ากรรมการชุดปัจจุบันได้ดําเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของบริษัท ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทไม่ได้รับเงินคืนมาให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือ ชําระคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยเฉพาะนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
9. ตั้งคำถามถึงเส้นทางการเงินที่นำมาซื้อขายหุ้น "MPIC” หรือ หุ้นของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) ระหว่างนายชินวัฒน์ อัศวโภคี และนายขันเงิน เนื้อนวล และตั้งคำถามถึง หุ้น MPIC ดังกล่าว หรือเงินที่ได้จากการซื้อหรือขายหุ้นหรือสิทธิดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการฟอกเงินหรือไม่ หรือนายขันเงิน เนื้อนวล เป็นนอร์มินีของใครหรือไม่