นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ เปิดเผยว่า จากการที่ทางกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเพิ่มประเภท และจำนวนผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นั้น เป็นเรื่องที่ดีหากสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง
เพราะเป็นเรื่องของการปรับตัวของสถาบันการเงินให้เข้ากับเทรนด์โลกได้ ไม่ต้องพึ่งพิงการทำธุรกรรมการเงินผ่านทางสาขาทำให้มีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งสถาบันการเงินที่ให้บริการเองก็ยังสามารถลดต้นทุนทางการบริหารจัดการได้มากขึ้นอีกด้วย เพียงแต่ว่าในช่วงระยะแรกนั้นสถาบันการเงินผู้ลงทุนอาจต้องมีความจำเป็นในการลงทุนด้านระบบที่ค่อนข้างสูง แต่ในระยะต่อมาจะเหลือเพียงการอัพเกรดระบบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
หากเทียบกับภาพรวมของผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินหลังจากที่ให้บริการ Virtual Bank แล้ว มองว่าอาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนัก มองว่าเป็นการเปลี่ยนตามการปรับพฤติกรรมการทำธุรกรรมของผู้บริโภคเท่านั้น ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมสถาบันการเงินจะปรับตัวลดลงด้วยหรือไม่นั้น มองว่าปกติทำธุรกรรมออนไลน์ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่แล้ว จึงมองว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร และมองว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมคงทรงๆ ตัว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่า สาระสำคัญของประกาศฯ กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มีดังนี้
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพ และผ่านคุณสมบัติ มีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
โดยการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงิน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม