"ปรับเกณฑ์ออกหุ้นกู้" ก.ล.ต.จ่อคุมเข้มกลุ่มเสี่ยงสูง ผิดนัด-เลื่อนจ่าย

14 มี.ค. 2567 | 05:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 05:21 น.

ก.ล.ต. ยกระดับคุมเข้มเกณฑ์ออกเสนอขายตราสารหนี้ "กลุ่มเสี่ยงสูง" กำหนดผู้ออกที่อยู่ระหว่าง "เลื่อนชำระหนี้ -ผิดนัด" จะขายรุ่นใหม่ได้เฉพาะ"หุ้นกู้ด้อยสิทธิ" ต้องเปิดเผยข้อมูลการเงินสำคัญ รายงานการใช้เงินทุก 6 เดือน เปิดเฮียริ่งถึง 11 เม.ย. นี้ ก่อนบังคับใช้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้หลักเกณฑ์มีความเหมาะสม รวมถึงผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ในการตัดสินใจลงทุน

ในปัจจุบัน มีผู้ออกตราสารหนี้จำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหามีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป ซึ่งแม้ว่าจำนวนบริษัทที่ประสบปัญหาหรือมีเหตุดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ออกตราสารหนี้และมูลค่าการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด แต่การผิดนัดชำระหนี้หรือการขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนตราสารหนี้  
 

ในการนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

หลักเกณฑ์การอนุญาต

1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ (issuer) ที่มีพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นเดิมที่อยู่ระหว่างการขยายอายุหรือมีการเลื่อนการชำระหนี้ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถออกและเสนอขายตราสารหนี้รุ่นใหม่ได้เฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิเท่านั้น และต้องระบุชื่อหุ้นกู้ให้ชัดเจนว่า issuer อยู่ระหว่างการเลื่อนการชำระหนี้หรือขยายอายุ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรหรือหุ้นกู้

2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน ในกรณีการขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (มาตรฐาน PAE) 

3) ปรับปรุงการตั้งชื่อสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง* โดยกำหนดให้ต้องมีคำว่าพันธบัตรเสี่ยงสูง” หรือ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” อยู่ในชื่อของตราสารอย่างชัดเจน


หมายเหตุ : * ตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล    

1) ปรับปรุงการเปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงิน และรายงานการใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายตราสารหนี้ โดยเพิ่มประเภทของวัตถุประสงค์การใช้เงินให้ครอบคลุมมากขึ้นและกำหนดให้รายงานการใช้เงินทุกรอบ 6 เดือน

2) กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้ issuer รายงานการฝ่าฝืน financial covenants ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิต่อ ก.ล.ต.

3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยอัตราส่วนทางการเงิน ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ และข้อกำหนดด้านการเงิน ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) และแบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (แบบ factsheet)

4) ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีคำเตือนผู้ลงทุนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว

5) ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของผู้ลงทุน เช่น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักประกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่เว็บไซต์ก.ล.ต.ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567