BGC คาดยอดขายปี 67 โต 2-3% วางงบ 300 ล้านเสริมแกร่งการผลิต

20 มี.ค. 2567 | 07:44 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 08:19 น.

BGC วางเป้ายอดขายปี 67 โตใกล้เคียงตัวเลข GDP ไทยที่ระดับ 2-3% ยังมีความท้าทายในด้านกำลังซื้อและฌศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปรับกลยุทธ์เป็นผู้ประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร วางงบ 200-300 ล้านบาท อัพเกรดกำลังผลิต

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์อื่นรายใหญ่ในไทย และภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมธุรกิจในปี 2567 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ใกล้เคียงกับ GDP ของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับราว 2-3% โดยในปีนี้ยังคงมีความท้าทายในเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่มองว่ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

โดยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2567 วางเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Total Packaging Solution) บริษัทยังคงมุ่งเน้นการกระจายพอร์ตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากขวดแก้วให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการลงทุนในบริษัท ไพร์ม แพ็คเกจจิ้ง จำกัด หรือ Prime ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนและม้วนฟิล์ม (Flexible Packaging)

นายศิลปรัตน์ มองว่าความต้องการใช้งานบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าวยังมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการขายของ Prime เข้ามาเป็นไตรมาสแรก จนถึงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา Prime ยังคงทำได้ดี สร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อไตรมาส พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในโรงงานดังกล่าวเพิ่มเติม ทำให้คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทในปี 2567 ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2567 บริษัทไปร่วมลงทุนในบริษัท โตโย ไซกัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ Toyo Seikan Group ซึ่งเป็นบริษัทบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจผลิตกระป๋อง และฝากระป๋อง สำหรับใช้บรรจุเบียร์และเครื่องดื่ม ปัจจุบันนี้มีโรงงานอยู่ 2 แห่ง ที่ซอยรังสิต-นครนายก 46 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์บรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและสามาารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

โดยการกระจายพอร์ตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากขวดแก้วเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงของกระกระจุกตัวของรายได้ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการและรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่ดีและมั่นคงได้มากขึ้นอีกด้วย

ในด้านต้นทุนปี 2567 มองว่าจะทรงตัวจากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทั้งในแง่ของพลังงาน ที่หลักๆ แล้วบริษัทจะใช้ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันทางเลือก มองว่าในปีนี้ราคาไม่ผันผวนรุนแรงเหมือนในอดีต ทำให้การบริหารจัดงานนั้นอยู่ในระดับที่ทำได้ดีอยู่ เช่นเดียวกันกับต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งเศษแก้ว พลาสติก และเศษกระดาษ ทำให้มั่นใจว่าจะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทั้งปีนี้ให้อยู่ที่ประมาณ 15-16% ได้ต่อเนื่องจากปีก่อน

แผนการลงทุนในปี 2567 บริษัทวางการใช้เงินลงทุนไว้ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท หลักๆ เพื่อใช้รองรับในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและกระบวนการผลิต รวมถึงการเพิ่มเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของการผลิต สามารถประหยัดพลังงานได้มายิ่งขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารดีขึ้น ลดปริมาณของเสียให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้กำลังการผลิต ณ สิ้นปี 2566 ของขวดแก้วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 83.1% พลาสติก 91.0% และกล่องกระดาศ 83.1% ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มธุรกิจและผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 มองว่าจะมีการเติบโตที่ดีกว่าทั้งในแง่ของยอดขายและในแง่ของผลกำไร ทั้งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ระดับ 3,814 ล้านบาท และ 4,263 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 243,021 ตัน และ 262,307 ตัน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 393 ล้านบาท และ 651 ล้านบาท ตามลำดับ