"จเรรัฐ ปิงคลาศัย" กับภารกิจ ปั้นเหมืองหิน STX

24 เม.ย. 2567 | 10:36 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 10:36 น.

เปิดใจ “จเรรัฐ ปิงคลาศัย” กับบทบาทผลักดัน STX เข้า เทรด mai 26 เม.ย.นี้ ชู 3 จุดแข็งธุรกิจเหมืองหิน เป็นสินค้าต้นน้ำ ไม่มีอะไรทดแทน จะไม่ถูกดีสรัป สินค้าใช้แล้วหมด พร้อมเดินหน้าหาเหมืองใหม่ๆ สร้างความยั่งยืนธุรกิจ

"จเรรัฐ ปิงคลาศัย" ชื่อนี้คนในวงการตลาดหุ้นในอดีตรู้จักดี ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร บริษัท ดราก้อนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ D1 ที่เคยสร้างความฮือฮากับโมเดลธุรกิจ Cash Company และบริษัทโฮลดิ้ง ก่อนจะห่างหายไปจากวงการ 

 “จเรรัฐ ปิงคลาศัย” กลับมาอีกครั้งพร้อมผลักดันให้ บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STX ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและแร่โดโลไมต์ ระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 65 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 3.00 บาท ให้กับนักลงทุนระหว่างวันที่ 18,19 และ 22 เมษายน เพื่อจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 26 เมษายน  2567

นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานบริหาร บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STX เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ออกจากวงการตลาดหุ้นไป 15 ปี เพราะช่วงนั้นคิดว่า ต้องพักสักพัก เรามักทำอะไรเป็นรายแรกๆ ในไทย แต่กฎกติกาบ้านเรายังไม่สมบูรณ์ ใครที่ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่มีในกติกาเดิม คนคุมกฎจะมองว่า ต้องจับตาเป็นพิเศษ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเขาทำมาแล้ว แต่ไทยยังไม่ทำ ซึ่งในที่สุดก็มีกฎเกณฑ์ออกมาคุมทั้งเรื่อง Cash Company และบริษัทโฮลดิ้ง

นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานบริหาร บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน)

“พอออกมาก็ดูว่า จะทำอะไรดี เลยไปช่วยผู้ใหญ่ทำการเมืองและได้เป็นกงสุลดูแลประเทศซูรินาเม หน้าที่คล้ายกึ่งผู้แทนการค้าคือ หานักลงทุนไทยไปลงทุนพวกเฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง ส่งรถบรรทุกไทยไปขาย” นายจเรรัฐกล่าวและว่า 

ช่วงนั้นบังเอิญได้มาคุยกับกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์ในไทย แรกๆ ก็ทำงานร่วมกันในการออกแบบรถโม่ปูนซีเมนต์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อจะได้เข้าพื้นที่แคบๆ ได้ พอดีเจ้าของ STX เดิมที่เป็นบริษัทในออสเตรเลียต้องการขายเหมืองหินที่ไทย เพื่อกลับประเทศ ทางกลุ่มปูนซีเมนต์ที่ขาดแคลนหิน จึงชักชวนมาลงทุน ก็เลยได้ก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมเหมืองหิน ทั้งที่แรกๆ ความรู้เป็นศูนย์ คือไม่รู้อะไรเลย 

จากนั้นก็เริ่มเข้ามาทำเหมืองหินและป้อนให้กับกลุ่มปูนซีเมนต์ในไทยทั้งหมดที่รับซื้อประมาณ 50% ของกำลังการผลิต และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ได้ปั้นธุรกิจต่างๆ มา 10 กว่าบริษัทให้แข็งแรงเพื่อเข้าตลาดจะได้ยั่งยืน ซึ่งก็แข็งแรงหมดแล้ว แต่จะเข้าตลาดหรือไม่ก็ขึ้นกับว่า ตลาดพร้อมแค่ไหนและเราต้องการทุนหรือเปล่า เพราะบางธุรกิจทำกำไรอยู่แล้วปันผลด้วยตัวมันเอง การเป็นบริษัทจำกัดจะดีกว่าเข้าตลาดเยอะ เพราะต้นทุนการเข้าตลาดสูงมากเกินไป

ผลการดำเนินงานของ บมจ.สโตนวัน

สำหรับ STX ต้องเข้าตลาด เพราะต้องซื้อเหมืองใหม่ 500 ล้านบาทไม่สามารถเตรียมเงินได้ทัน แม้ว่าจะมีกำไรปีละ หลายสิบล้านบาทก็ตาม ซึ่งหินแต่ละที่ไม่เหมือนกันและการใช้งานต่างกัน อย่างหินปูนจะใช้สำหรับการก่อสร้างไม่แข็งมาก แต่หินแกรนิตแข็งสุดจะใช้กับพื้นที่ต้องความแข็งมากอย่างรัยเวย์สนามบิน หมอนรองรางรถไฟ สนามแข่งรถ

นายจเรรัฐกล่าวต่อว่า ขณะนี้รายได้หลักยังมาจากหินก่อสร้างเกือบ 90% และอีกจาก 10% จะมาจากแร่ ซึ่งโชคดีว่าเหมืองราชบุรีมีค่าเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นโดโลไมต์ด้วย ก็เลยเริ่มผลิตโดโลไมต์ออกมาขายเพิ่มเติม ซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่าหินก่อสร้าง อย่างหินก่อสร้างตันละ 200-300 บาท แต่ราคาแร่จะอยู่ที่ตันละ 500-800 บาทและกำลังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้แร่โดโลไมต์จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว อุตสาหกรรมผลิตกระจก รวมถึงภาคการเกษตรที่ใช้ในการปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน และปรับสภาพน้ำในการเลี้ยงสัตว์ บ่อกุ้ง เป็นต้น

“ช่วงโควิดงานก่อสร้างชะลอ เราก็เลยลงทุนในการเพิ่มสายการผลิตแร่โดโลไมต์ยอดป้อน 20,000 ตันต่อเดือนและมีแผนจะเพิ่มอีก เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ แต่ไม่อยากจะเพิ่มมาก เพราะต้องการรักษาระดับราคาไว้”นายจเรรัฐกล่าว

สำหรับข้อดีของ STX คือ เป็นวัตถุดิบต้นน้ำจาก 2 แหล่งคือ ราชบุรี มีอายุสัมปทานถึงปี 2585 เหลืออีก 18 ปีและมีสำรองเหลืออีกมาก จะมีความยั่งยืนในการผลิต ขณะที่ชลบุรีจะมีอายุสัมปทานถึงปี 2575 เหลือ 8 ปี ก็เลยต้องมองหาเหมืองใหม่ เพราะการทำเหมืองหลังปี 2560 จะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ขั้นตอนการยื่นขอสัมปทานต้องใช้เวลา 3 ปีอย่างต่ำจากเดิมประมาณปีครึ่งถึง 2 ปี

“ธุรกิจเหมือง STX จะเติบโตไปกับการพัฒนาประเทศ และช่วงนี้ถือเป็นขาขึ้นของ STX จากการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทั้งในอีอีซี เซาเทิร์น ซีบอร์ด โครงการถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และแลนด์บริดจ์ โดยเฉพาะเหมืองที่ใกล้อีอีซี ที่ประเมินว่าใน 10 ปีข้างหน้ามีความต้องการหินประมาณ 100 ล้านตัน แต่ปัจจุบันผลิตหินได้เพียง 10 ล้านตันเท่านั้น”

นายจเรรัฐกล่าวทิ้งท้ายว่า ธุรกิจเหมืองหินจะขายในรัศมีไม่เกิน 150 กิโลเมตรเท่านั้น  เพราะต้นทุนค่าขนส่งจะสูงขึ้นตามระยะทาง ดังนั้นธุรกิจนี้จึงดูเหมือนว่า ไม่มีคู่แข่ง ต่างคนต่างให้บริการในพื้นที่ตัวเองและหินยังเป็นวัสดุสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป จึงไม่ถูกดีสรัป  แต่ถ้าต้องการทำเป็นมืออาชีพก็ต้องหลายๆ เหมืองเพื่อความยั่งยืน นอกลงทุนในเหมืองใหม่ๆ แล้ว ยังจะมีการซื้อเหมืองเก่าๆ ที่เจ้าของต้องการขายด้วย แต่ต้องมีอายุสัมปทานเหลือ 8-10 ปีขึ้นไป

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567