LTS จ่อขายหุ้น IPO ระดมทุนขยาย “โชว์รูม-โกดัง”

17 เม.ย. 2567 | 22:10 น.

LTS เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ระดมทุนขยายโชว์รูมและโกดัง รองรับการเติบโตของธุรกิจและสินค้าเทคโนโลยี IoT พร้อมใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับบิ๊กโปรเจ็ค

นายภัฏ ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างทั่วโลกมีมูลค่า 113,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ซึ่งเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มตลาดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 7.5% สำหรับปี 2566 มูลค่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์หลอดไฟและอุปกรณ์แสงสว่างของไทยอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3-5% 

ปีนี้ LTS ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 55 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.62 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้  

นายภัฏ ตรัสโฆษิต

โดยมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในไตรมาส 2/2567 โดยมี บริษัท ออพท์เอเซีย แคปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดจำหน่ายและประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

LTS จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และขยายโชว์รูม รวมทั้งโกดังสินค้า เพื่อขยายกิจการให้มีความแข็งแกร่งขึ้น รองรับการขายสินค้าแก่โครงการขนาดใหญ่ของบริษัทฯ ได้แก่ สวนสาธารณะอัจฉริยะ โครงการ smart pole, โครงการ smart city, และ โครงการ smart street light

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการการขายอุปกรณ์ส่องสว่างและอุปกรณ์เสริมสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง เช่น โคมไฟฟ้า ไฟสปอตไลท์ ไฟเพื่อการตกแต่ง แก่ลูกค้า 3 กลุ่มหลักคือ

1) ลูกค้าสถาปนิกหรือผู้รับเหมา

2) ลูกค้าโครงการรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและเอกชนขนาดใหญ่

3) ลูกค้าค้าส่งและค้าปลีก ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทาง พนักงานขายและ ช่องทางออนไลน์

LTS จ่อขายหุ้น IPO ระดมทุนขยาย “โชว์รูม-โกดัง”

สำหรับโครงสร้างรายได้และกำไรของบริษัทฯ ในปี 2564 – 2566 พบว่า ในปี 2564 รายได้รวมประมาณ 163 ล้านบาท และมีกำไร 0.72 ล้านบาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.04 เป็นรายได้มาจากการจัดจำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาหรือสถาปนิก ร้อยละ 12.28 จากการจำหน่ายลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ และร้อยละ 10.68 เป็นรายได้จากลูกค้า Retail/Wholesale (การค้าปลีก-การค้าส่ง)

ในปี 2565 มีรายได้รวมประมาณ 232 ล้านบาทและกำไร 15.01 ล้านบาท ร้อยละ 60.95 มาจากกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาหรือสถาปนิก ร้อยละ 37.48 มาจากลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ และร้อยละ 1.5 จากลูกค้า Retail/Wholesale (การค้าปลีก-การค้าส่ง)

ขณะที่ในปี 2566 มีรายได้รวม 227 ล้านบาท และกำไร 31.43 ล้านบาท ร้อยละ 50.37 มาจากกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาหรือสถาปนิก ร้อยละ 40.83 มาจากลูกค้าโครงการขนาดใหญ่  ร้อยละ 8.45 จากลูกค้า Retail/Wholesale(การค้าปลีก-การค้าส่ง)

โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่มีรายได้จากธุรกิจ IT Solutions เข้ามา ร้อยละ 0.36 ซึ่งกำไรของบริษัทในช่วงปี 2564 – 2566 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2567 บริษัทมี Backlog รับรู้รายได้ประมาณร้อยละ 100 ของรายได้ในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าจะมาจากโครงการสวนสาธารณะอัจฉริยะซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของบริษัท

นอกจากนี้ LTS ได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการจัดการระบบไฟและควบคุมอุปกรณ์ Internet of Things (IOT) ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของบริษัทฯ ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโครงการขนาดใหญ่เฉลี่ยปีละ 1-2 โครงการ เช่น โครงการไฟรั้วโซลาร์เซลล์ IOT จากกรมท่าอากาศยานในปี 2563, โครงการ AOT สนามบินสุวรรณภูมิ Phase II ในปี 2564, และโครงการสวนสาธารณะอัจฉริยะ

ในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันยังมีโครงการ smart city โครงการ smart pole ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเตรียมความพร้อม โดยจากการที่ LTS เป็นหนึ่งในผู้นำด้านจำนวนการขายเสาไฟอัจฉริยะในประเทศไทย จะช่วยให้บริษัทฯ มีโอกาสเติบโตจากการขายสินค้ากลุ่ม smart pole สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

LTS จ่อขายหุ้น IPO ระดมทุนขยาย “โชว์รูม-โกดัง”

LTS ยังมีการพัฒนาและต่อยอดในด้านความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากโครงการในอนาคตสำหรับ IT Solution ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจำหน่ายชุดคำสั่งต่าง ๆ ให้แก่องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีการบริการแบบครบวงจร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่

1) ด้าน Subscription เป็นการซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมมาเพื่อจัดจำหน่ายต่อเพื่อให้ลูกค้าสมัครใช้บริการในรูปแบบรายเดือนหรือรายปี

2) Software Development เป็นการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากทีมงานของบริษัทซึ่งจะมีทั้งการขายสิทธิ์โปรแกรมให้แก่ลูกค้าหรือการให้เช่าใช้โปรแกรม และ

3) General Service เป็นบริการให้คำแนะนำในการใช้โปรแกรมที่บริษัทให้บริการ รวมถึงการบริการอบรมพนักงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมอยู่ด้วย