กลุ่มแบงก์ประกาศกำไรสุทธิแตะ 6.31 หมื่นล้าน โต 5.87% จากปีก่อน

24 เม.ย. 2567 | 23:09 น.

จบฤดูประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 9 แห่ง อวดกำไรไตรมาสแรกเติบโตสูงสุดกว่า 28% และบางแห่งกำไรลดลงต่ำสุดถึง 25%

ผ่านพ้นช่วงประกาศผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/2567 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 9 แห่ง โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีการตรวจสอบข้อมูล พบว่า จากการรายได้จากการดำเนินงานรวมของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/2567 เติบโตกว่า 9.51% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน มาอยู่ที่ 246,775.76 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 63,112.12 ล้านบาท เติบโตกว่า 5.87% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ จำนวน 29,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.93% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 11.57% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 13,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 10,741 ล้านบาท จากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

ในไตรมาส 1/2567 นี้ ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จำนวน 11,684 ล้านบาท โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอ สะท้อนต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้มีจำนวน 13,486 ล้านบาท

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/2567 มีจำนวน 38,528 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.76% เป็นไปตามภาวะตลาด นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีจำนวน 8,299 ล้านบาท จากการเติบโตของค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมรับจากการรับรองตั๋ว อาวัล และค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจบัตร รวมรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 50,152 ล้านบาท เติบโต 7.68% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 20,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income retio) อยู่ที่ระดับ 41.30% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.50% โดย ณ 31 มีนาคม 2567 มีสินทรัพย์รวมที่ 4,318,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 35,253 ล้านบาท หรือ 0.82%

ด้านเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 150.35% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.37%

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,733.02 ล้านบาท ลดลง 59.56 ล้านบาท หรือ 3.3% จากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน สาเหตุมาจากการชะลอตัวลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รายได้รวมจากการดำเนินงานที่ 4,702.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3,395.46 ล้านบาท เติบโต 5.4% ตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 1,307.20 ล้านบาท ชะลอตัวลง 5.5% เป็นผลมาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวท่ามกลางภาวะตลาดทุนที่ซบเซา ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัว

ด้านผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 279.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.07 ล้านบาท หรือ 0.5% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามแผนการตั้งสำรองเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูง จากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง สินเชื่อที่มีการด้อยค่าดานเครดิต (NPLs) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 2.27% และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ลดลงมาอยู่ที่ 177.8%

สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 282,405.01 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากสิ้นปีก่อน เป็นผลมาจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินที่ลดลง 18.0% มาอยู่ที่ 39,738.41 ล้านบาท ด้านเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.2% มาอยู่ที่ 235,217.77 ล้านบาท สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไร หรือ ขาดทุน มีจำนวน 2,122.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% และเงินลงทุนสุทธิมีจำนวน 3,319.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เป็นผลมาจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 2.1% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกและอื่นๆ

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจำนวน 10,178 ล้านบาท ลดลง 7.6% เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 42,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ 40,900 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อนที่ 42,543 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 18,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากปีก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่ระดับ 41.0% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ด้านการตั้งสำรองในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความเปราะบางอันเนื่องมาจากสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 160.6% ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 3.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน

สำหรับเป้าหมายในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ไม่น้อยกว่า 3-5% จากปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 1/2567 ทำได้ที่ระดับ 0.9% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิวางไว้ที่ระดับ 3.7-3.9% จากปีก่อน จากในไตรมาส 1/2567 ทำได้ที่ 3.83% ขณะที่อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ คาดว่าจะอยู่ในระดับตัวเลขหลักเดียวระดับต้นถึงกลาง จากในไตรมาส 1/2567 ที่อยู่ที่ระดับ -7.6% ส่วนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะรักษาระดับไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 43-45% ซึ่งในไตรมาส 1/2567 ทำได้ที่ 42.1% และอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ระดับไม่ต่ำกว่า 1.60-1.80% จากในไตรมาส 1/2567 ทำได้ที่ 1.67%


ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาสก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 33,422 ล้านบาท ลดลง 5.0% จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรับฝากที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเมื่อครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.06% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 8,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% จากรายได้จากการลงทุน

ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน ในส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 19,618 ล้านบาท ลดลง 16.9% จากไตรมาสก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 47.1% ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,582 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,736,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ ในส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 93,949 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.0% สอดคล้องตามที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง

โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตอยู่ที่ 274,071 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.7% อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 4,556,914 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนที่ 4,514,484 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ระดับ 4,461,137 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 3,198,332 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 85.6% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทันชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.7% 16.3% และ 15.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 22,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากไตรมาสก่อนที่ทำได้ 21,622 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่อยู่ที่ 21,845 ล้านบาท จากการมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนและการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง กำไรสุท (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 11,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.3% จากไตรมาสก่อนที่ 6,111 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ 10,067 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) อยู่ที่ 3.31% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ระดับ 3.00%

ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 40,703 ล้านบาท ขยายตัว 15.4% จากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ทั้งจากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ Cost to income retio อยู่ที่ 43.6% ลดลงจาก 44.8% ในไตรมาสที่ผ่านมา

โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ อยู่ที่ 22,972 ล้านบาท ขยายตัว 29.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ 13,650 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวัง โดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสมในไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) อยู่ที่ 11,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 181.8% เทียบกับสิ้นปีก่อนที่ 181.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 98,815 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs ratio) อยู่ที่ 3.14% หรือมี NPLs อยู่ที่ระดับ 98,815 ล้านบาท สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 8,029 ล้านบาท ลดลงทั้งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า 0.9% และ 38.6% ตามลำดับ


ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ในไตรมาส 1/2567 รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 28.3% จากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน มาอยู่ที่ 38,533 ล้านบาท โดยที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 27,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 11,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ด้วยนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สะท้อนการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2567 มาอยู่ที่ 12,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยหดตัว 13.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน หรือลดลง 1,133 ล้านบาท มาอยู่ที่ 7,543 ล้านบาท และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 2.4% หรือ 189 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสอดคล้องกับการชำระคืนเงินให้สินเชื่อตามปัจจัยด้านฤดูกาลในระหว่างไตรมาส

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 เงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,999,952 ล้านบาท ลดลง 17,252 ล้านบาท หรือ 0.9% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 2,017,204 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการลดลงตามปัจจัยด้านฤดูกาลของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่ออาเซียนเพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส ส่วนเงินฝากรับในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2,004,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 164,500 ล้านบาท หรือ 8.9% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 หลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำ

ด้านหนี้สินรวมในไตรมาส 1/2567 มีจำนวน 2,477,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ 2,396,841 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.69% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่ 2.53% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 66,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 5,385 ล้านบาท หรือ 8.8% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพจากสินเชื่อาเซียน ตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวังของธนาคาร

ขณะที่การตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง โดยเฉพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 248 เบสิสพอยท์ โดยอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 141.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่ระดับ 149.1% หากไม่รวมพอร์ตโฟลิโอของสินเชื่ออาเซียน อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.30% ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 18.08% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่ 18.24% โดยที่รวมสินทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2,859,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91,134 ล้านบาท หรือ 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 2,768,295 ล้านบาท

แผนการดำเนินงานในปี 2567 BAY ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อไว้ที่ไม่น้อยกว่า 3-5% จากปีก่อน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิรักษาระดับไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 3.8-4.1% ขณะที่การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในแบบตัวเลขหลักเดียวระดับกลาง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับกลางถึง 40s สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมที่ประมาณ 180-200 เบสิสพอยท์ (bps) อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.50-2.75% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 140-150%


ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุมธิ 14,396 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 14,948 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ระดับ 13,502 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3,273 ล้านบาท ลดลง 3.3% จากไตรมาสก่อนที่ 3,384 ล้านบาท และลดลง 2.8% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ระดับ 3,368 ล้านบาท

โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวมที่ 17,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 16,870 ล้านบาท แต่ลดลง 3.6% จากไตรมาสก่อนที่ 18,332 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 7,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 7,303 ล้านบาท แต่ลดลง 9.2% จากไตรมาสก่อนที่ 8,336 ล้านบาท ทั้งนี้ มีกำไรสุทธิ หลังค่าใช้จ่ายสำรองฯ และผลประโยชน์ทางภาษี สำหรับงวดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 5,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 4,295 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาสก่อนที่ 4,866 ล้านบาท

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.28% ลดลง 11 bps จาก 3.39% ในไตรมาสก่อน จากแรงกดดันระยะสั้นจากต้นทุนเงินฝากตามการดำเนินกลยุทธ์เติบโตฐานเงินฝากในไตรมาส 4/2566 อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อที่ดีขึ้นช่วงบรรเทาผลกระทบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หากเทียบ NIM ในไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้น 20 bps จาก 3.08% ในไตรมาสเดียวกันในปีก่อน เป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามแผนการบริหารจัดการสภาพคล่อง ควบคู่การปรับสัดส่วนสินเชื่อท่ามกลางวัฏจักรดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นสู่จุดสูงสุด ส่วนเงินรับฝากในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 1,372,643 ล้านบาท ลดลง 1% จากสิ้นปีก่อน

สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 5,117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.7% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ระดับ 4,276 ล้านบาท แต่ลดลง 45.1% จากไตรมาสก่อนที่ 9,326 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ 156 bps หนุนให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ COVERAGE ratio ทรงตัวในระดับสูงที่ 155% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567

ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ไม่รวมดอกเบี้ยรับ ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 39,759 ล้านบาท ลดลงทั้งจากไตรมาสก่อนที่ 41,006 ล้านบาท และไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 42,006 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs ratio) ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2.56% อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 2.62% และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 2.69%

สินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ของธนาคารและบริษัทย่อยรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 1,807,603 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิตามงบการเงินรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,262 พันล้านบาท ลดลง 0.9% จากสิ้นปีก่อน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทิศทางการเติบโตด้านสินเชื่อของธนาคารยังคงเป็นไปตามกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง และมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ และให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม


ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธจำนวน 1,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.9% จากไตรมาสก่อนที่ 670 ล้านบาท แต่ลดลง 27.8% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 2,085 ล้านบาท โดยหลักจากการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 1,676 ล้านบาท

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 5,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 5,223 ล้านบาท แต่ลดลง 5.6% จากไตรมาสก่อนที่ 5,562 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% จากไตรมาสก่อนที่ 1,393 ล้านบาท แต่ลดลง 8.1% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 6,941 ล้านบาท

รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท ปรับลดลงเล็กน้อย 1.6% จากไตรมาสก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 0.6% ในขณะที่รายได้ที่มิใช้ดอกเบี้ยลดลง 8.1% ตามภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าประกันปรับลดลงเช่นกันตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ ทางด้านค่าใช้จ่ายธนาคารยังสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ 42.4%

ด้านรวมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 4,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.3% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 3,239 ล้านบาท แต่ลดลง 5.8% จากไตรมาสก่อนที่ 4,584 ล้านบาท

ธนาคารคงความรอบคอบและมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวัง และจากมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1/2567 ธนาคารมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นจำนวน 609 ล้านบาท ลดลง 44.5% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 1,097 ล้านบาท และลดลง 57.4% จากไตรมาสก่อนที่ 1,429 ล้านบาท 

นอกจากนี้แล้ว ในไตรมาส 1/2567 ภายใต้หลักการบริหารคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งธนาคารได้มีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.8% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นปีก่อน จากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายดังหล่าว

ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยรวมแล้วยังบริหารได้ในระดับที่ดี สำหรับอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครคิด ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 137.3% สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและรายการขาดทุนจากการขายรถยึด (Credit cost) คิดเป็น 2.07% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 3.12% และลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ระดับ 2.41%

สินทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 532,436 ล้านบาท ลดลง 2.4% จากสิ้นปีก่อนที่ 545,327 ล้านบาท หลักๆ เป็นผลมราจากการลดลงของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับ และรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ในส่วนของหนี้สินในไตรมาส 1/2567 มีจำนวน 469,495 ล้านบาท ลดลง 3.0% จากสิ้นปีก่อน โดยเป็นเงินรับฝากจำนวน 356,849 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากสิ้นปีก่อนที่ 358,902 ล้านบาท จากการลดลงของเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ปรับลดลง

ส่งผลให้เงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์มีสัดส่วน 33.7% และเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลามีสัดส่วน 66.3% ของเงินรับฝากทั้งหมด ทางด้านตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมมีจำนวน 60,706 ล้านบาท ลดลง 11.9% จากสิ้นปีก่อน โดยในไตรมาส 1/2567 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมอยู่ที่ 94.8%


ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ในไตรมาส 1/2567 กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) จำนวน 626.1ล้านบาท ลดลง 204 ล้านบาท หรือ 24.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่มีกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 790.2 ล้านบาท ลดลง 247.9 ล้านบาท หรือ 23.9% สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน 8.4% และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 11.8% สุทธิกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลง 36.9%

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/2567 รายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 3,506.1 ล้านบาท ลดลง 322.7 ล้านบาท หรือ 8.4% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันในปีก่อน การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 28.8 ล้านบาท หรือ 1.2% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินฝากรับ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 26.2 ล้านบาท หรือ 8% มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ รายได้อื่นลดลง 267.7 ล้านบาท หรือ 23.7% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้น 231.7 ล้านบาท หรือ 11.8% มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 62.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนอยู่ที่ 51.2% สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2.2% ลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนอยู่ที่ 2.6% จากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2567 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค่ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 248.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อฯ สิ้นไตรมาส 1/2567 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 316.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากสิ้นปีก่อน ที่มีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (The Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 78.4% จากสิ้นปีก่อนที่ 78.9%

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 3.3% เกิดจากสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 121.3% ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 124.2% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 1/2567 มีจำนวน 59.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.8% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.5%