AAI รับทรัพย์เงินบาทอ่อนค่า หนุนผลงานครึ่งปีแรกเด่น

03 พ.ค. 2567 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2567 | 09:27 น.

AAI ยิ้มบาทอ่อนค่าหนัก 37 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อผลงานครึ่งแรกปี ชี้สัดส่วนการส่งออกปัจจุบันสูงกว่า 80% ของยอดขายรวม เนื้อหอมลูกค้าเรียงคิวป้อนออเดอร์ใหม่ต่อเนื่อง ส่งซิกผลงานไตรมาส 2/67 ดีกว่าปีก่อนแน่นอน มั่นใจทั้งปียอดขายโต 15%

จากสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 35-36 บาทต่อดอลลาร์ และอยู่ในระดับเดียวกันนี้มาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 แต่เมื่อถึงช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่ามากขึ้น สูงสุดอยู่ที่ระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มผู้ประกอบการและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกต่อปัจจัยดังกล่าวด้วย

 

ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ฉุดบาทอ่อนทะลุ 37 บาท หุ้นส่งออกรับอานิสงส์

นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เปิดเผยว่า มองว่าด้วยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน และคาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ด้วยนั้น จะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกปีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

แต่ในขณะเดียวกันบริษัทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย โดยปรับการทำ Forward Contract มาเป็นระยะที่สั้นลง มองว่าหากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทไม่หลุด 35 บาทต่อดอลลาร์ไป ถือว่าเป็นช่วงระดับราคาที่ดี อย่างไรก็ดี สัดส่วนการส่งออกของบริษัทคิดเป็นมากกว่า 80% ของยอดขายทั้งหมด โดยหลักๆ จะเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะอยู่ในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯและยุโรป ในส่วนของธุรกิจทูน่าจะมุ่งเน้นในตลาดตะวันออกกลาง

ปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับความสนใจและคำสั่งซื้อใหม่ๆ จากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มองภาพรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2567 นี้ แนวโน้มยอดขายยังคงมีการเติบโตที่ดีอยู่ เนื่องจากลูกค้ายังคงมีแผนที่จะขยายปริมาณคำสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีการผลิตให้เดิมอยู่แล้ว รวมถึงลูกค้าบางรายมีแผนที่จะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงประเภทใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และคาดว่ายอดขายในไตรมาส 2/2567 จะมีการเติบโตที่สูงกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนแน่นอน เพราะในปีก่อนมีฐานที่ค่อนข้างต่ำ และยังคงเป้าหมายการเติบโตของยอดขายปีนี้ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน

แผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทจะมุ่งเน้นในการขยายฐานลูกค้าในตลาดสหรัฐฯ และยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ บริษัทก็เริ่มศึกษาตลาดในภูมิภาคเอเชียควบคู่กันไปด้วย มองว่าสภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงเข้มข้นอยู่ไม่ว่าจะภูมิภาคใดก็ตาม เพียงแต่โอกาสในการเข้าไปทำการขยายตลาด ทั้งด้วยผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ก็ยังมีอยู่มาก

ด้านแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทเอง (House Brand) ภายใต้แบรนด์ "มองชู" ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะฐานการตลาดในไทย และจีน จึงคงเป้าจะมีรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2570 จะขยับขึ้นไปอยู่ระดับ 1 พันล้านบาท หรือมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ของรายได้รวม จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 3% ของรายได้รวม เนื่องจากบริษัทจะไม่รุก ขยายฐานการตลาดด้วยกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อรักษาสัดส่วนการตลาดรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทับซ้อนกับคู่ค้าทางธุรกิจ

ในส่วนของธุรกิจ Human food นั้น ในปี 2567 บริษัทไม่ได้ให้น้ำหนักในการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมมากนัก เพราะมองว่ากำลังซื้อและการบริโภคในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แต่ก็มีแผนที่จะสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปพร้อมทานรองรับความต้องการ เช่น ข้าวผัด, สปาเก็ตตี้ โดยตั้งเป้าเป็นผู้รับจ้างผลิตอาหารในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึก ทั้งใน แบบกระป๋อง แบบถุงปิดสุญญากาศ (Pouch) และแบบบรรจุถ้วยพลาสติก รวมถึงพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็กอ่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมขยายฐานการตลาดในอนาคต

แนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละประเภทยังคงทรงตัว จึงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับปริมาณการจับปลาทูน่าเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ จึงเข้ามาหุนผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ตั้งเป้าเป็นผู้รับจ้างผลิตอาหารในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึก ทั้งใน แบบกระป๋อง แบบถุงปิดสุญญากาศ (Pouch) และแบบบรรจุถ้วยพลาสติก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปลาทูน่าเป็นวัตถุดิบหลัก และผลิตภัณฑ์อื่น จึงคาดว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับการประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะมีการประชุมและแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นี้