NER ชี้เอลนีโญ กระทบซัพพลายยางพาราหด วางงบ 1.7 พันล้าน สร้างโรงงานแห่ง 3

13 พ.ค. 2567 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 07:15 น.

NER เล็งปรับเป้าหมายใหม่กลางปี 67 จากเดิมที่ 5.1 แสนตัน/ปี หลังสถานการณ์เอลนีโญ กดดันซัพพลายยางพาราหดตัว ขณะที่ราคาขายมองระดับ 60-80 บาท/กิโลกรัม อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรม คงความสามารถในการรักษามาร์จิ้นให้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 11%

KEY

POINTS

  • NER เล็งปรับเป้ายอดขายใหม่กลางปี 67
  • NER ชี้ราคายางช่วง 60-80 บาท/กิโลกรัม อยู่ในระดับเหมาะสม
  • NER วางงบ 1.7 พันล้าน รองรับสร้างโรงงานแห่ง 3 ขนาด 3.02 แสนตัน

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการพิจารณาปรับเป้าหมายการดำเนินงานใหม่ของช่วง 6 เดือนหลังปี 2567 ภายในกลางปีนี้ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายยอดขายเฉลี่ยทั้งปีนี้ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท หรือมีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ระดับกว่า 510,000 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นจากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนประมาณ 10% จาก 497,053 ตัน/ปี

ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 2/2567 ในประเทศไทย มองว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดีอยู่ทั้งในแง่ของความต้องการยางพารา และราคาที่อยู่ในระดับเฉลี่ยที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทมองว่าราคายางพาราเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ในช่วงตั้งแต่ 60 บาท/กิโลกรัม ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 บาท/กิโลกรัม จะเป็นผลดีทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ใช้ปลายทาง อย่างไรก็ดี คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ ซึ่งในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีปริมาณจำหน่ายแล้วที่ระดับ 114,619 ตัน

 

NER ส่งซิกยอดขายยางไตรมาสแรกพุ่ง 1.1 แสนตัน

แผนบริษัทการลงทุนในปี 2567 เตรียมงบลงทุนราว 1,700 ล้านบาท หลักเพื่อรองรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 ที่มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 คาดว่าจะยังไม่มีการใช้งบลงทุนดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณยางพาราที่บริษัทรับซื้อมาได้ เพียงพอมากน้อยแค่ไหน และราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าซัพพลายยางพาราในปัจจุบันลดลงไปไม่น้อยจากเอลนีโญ

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 114,619 ตัน ลดลง 10.15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 หรือราว 12,956 ตัน และลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน 10.15% หรือประมาณ 12,955 ตัน โดยบริษัทมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 6,542 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนการขายในประเทศ 74% และส่งออก 26% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 6,254 ล้านบาท ตามราคายางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายสินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16.45% 

ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 314 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 11.64% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 6.93% มองว่าในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะพยายามคงความสามารถในการรักษาระดับอัตรากำไรให้อยู่ในค่าเฉลี่ยที่ไม่น้อยกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า บริษัทมีแผนในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้อัตรากำไรที่ค่อนข้างสูงออกจำหน่ายเพิ่มเติม ปัจจุบันมีลูกค้าที่สั่งซื้อเพื่อเริ่มนำไปทดลองในสายผลิตบ้างแล้ว