TU-SFLEX ไม่หวั่นขึ้นค่าแรง 400 บาท รับมือได้ ไม่กระทบต้นทุน

16 พ.ค. 2567 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 08:32 น.

TU-SFLEX มองการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ไม่กระทบต่อต้นทุนธุรกิจ เตรียมพร้อมวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมมองบวกช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกำลังซื้อให้กับประชาชน

นางสาวภิญญดา แสงศักดาหาญ หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ในเดือนตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากบริษัทได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้วตั้งแต่เนิ่นๆ และวางทีมบริหารจับตาดูอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด และในช่วงที่ผ่านมามีการคาดการณ์ถึงต้นทุนแรงงานไว้ล่วงหน้าในอนาคตไปจนถึงเพิ่มเป็นกว่า 700 บาท แล้ว ทำให้มีความมั่นใจว่ายังสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

โดยต้นทุนค่าแรงของบริษัทในปัจจุบันนั้น ยังคงมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ คิดเป็นเพียงตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น ทำให้มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ไม่มีกระทบผลต่อธุรกิจ กลับมองเป็นเรื่องดีที่ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มากขึ้น มีสะภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้น บริษัทก็เชื่อว่าจะไปหนุนการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี มองว่าอย่างไรค่าแรงขั้นต่ำก็จ้องที่การปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้ได้

ดร.สมโภชน์ วัลยะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ของภาครัฐ แน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก มองว่าทั้งอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดทุกที่ เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่แต่ละองค์กรจะมีการบริหารจัดการกันอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าผลกระทบเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ภาคธุรกิจจะต้องเจอ

ในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าของบริษัทที่ผู้บริโภคมีการใช้โดยตรง เช่น บรรจุภัณฑ์เพื่อการอุปโภค อาทิ ซองยาสระผม ครีมนวดผม สบู่ รวมถึงซองบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ในสินค้าบริโภค ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อต้นทุนค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ก็อาจมีผลต่อการปรับราคาขายสินค้าที่ขึ้นตามมาด้วยเช่นเดียวกัน และมองว่าราคาอาจถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคปลายทางบ้างเล็กน้อย แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด ด้วยสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าอย่างไรผู้บริโภคก็ยังคงต้องมีการใช้งานอยู่เท่าเดิม

แต่มองว่าผลจะไปกระทบมากที่สุดอาจเป็นกลุ่มสินค้าฟุ้มเฟือยมากกว่า เป็นสินค้าที่จะกินจะใช้ก็ได้ ไม่กินไม่ใช้ก็ได้ หรืออาจมีสินค้าอื่นที่มีราคาถูกกว่าสามารถเข้ามาทดแทนได้ เช่น กาแฟ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ สำหรับธุรกิจของบริษัทนั้น มองว่าไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการวางแผนนำเอาระบบ Automation มาใช้กับส่วนงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสายงานการผลิต และคลังสินค้า ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนค่าแรงแล้ว ยังทำให้ระยะเวลาในการดำเนินงาน การจัดส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย