บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ กลุ่มยานยนต์ (Automotive) ว่า ทางฝ่ายแนะนำ ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2567 ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 จากทั้งยอดขายในประเทศและส่งออกที่ลดลง โดยทาง ส.อ.ท.รายงานยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 1.05 แสนคัน ลดลง 11% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และหดตัว 24% จากเดือนก่อนหน้า
ซึ่งยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง ทั้งรถกระบะและรถยนต์นั่ง รวมถึงมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย อีกทั้งยอดส่งออกรถยนต์ปรับตัวลดลงมากขึ้นจากฐานสูงปีก่อน ขณะที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาก ยังเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาลที่ในเดือนเมษายน มีวันหยุดยาว ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2567 มียอดผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 5.2 แสนคัน ลดลง 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
โดยยอดขายในประเทศ ลดลง 21% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และหดตัว 17% จากเดือนก่อนหน้า ยังมีทิศทางชะลอตัว จากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน จากหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งนี้ รวม 4 เดือนแรกของปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศ ลดลง 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
ขณะที่ยอดส่งออก ลดลง 12% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และหดตัว 26% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนจากฐานสูงในปีก่อน และมีวันทำงานน้อยในเดือนเมษายน 2567
ทั้งนี้ รวม 4 เดือนแรกของปี 2567 ยอดส่งออกหดตัว 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ยอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่ง BEV (ไม่เกิน 7 คน) เดือนเมษายน กลับมาโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนได้เล็กน้อย อยู่ที่ 4.0 พันคัน โต 5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ลดลง 15% จากเดือนก่อนหน้า
โดยแบรนด์ BYD ยังครองสัดส่วนมากสุดที่ 22% อันดับ 2 เป็น Deepal 20% ตามมาด้วย MG 16%, NETA 10%, ORA 7% (Fig.5, 6) รวม 4 เดือนแรกปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 2.6 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
จากประเด็นดังกล่าวทำให้ทางฝ่ายมองเป็นลบต่อบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากยอดผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ทั้งนี้ ยังคงประเมินยอดผลิตรถยนต์ปี 2567 ลดลงเป็น 1.6 ล้านคัน ลดลง 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน (ปี 2566 ผลิตได้ 1.84 ล้านคัน) และต่ำกว่าประมาณการของ ส.อ.ท. ที่ 1.9 ล้านคัน
โดยยอดผลิตรถยนต์ 4 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็น 32% จากทั้งปี และยังมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน อย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2567 อาจเริ่มได้ผลบวกบ้างจากการเริ่มผลิตรถ BEV เพื่อนำมาจำหน่ายมาทดแทนการนำเข้ามากขึ้น ประเมินว่าค่ายรถยนต์ BYD และ GAC AION จะเริ่มผลิตและจำหน่ายได้
ทั้งนี้ ทางฝ่ายไม่มีหุ้น top pick โดย SAT (แนะนำขาย ราคาเป้าหมาย 15.50 บาท) ประเมินกำไรปี 2567 จะลดลง 19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตามทิศทางยอดผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง และ outlook ยังดูไม่สดใส โดยแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการผลิตรถกระบะ EV เพิ่มขึ้น อาจทำให้ SAT เสียประโยชน์ เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะ ICE เป็นหลัก
นอกจากนี้ ทางฝ่ายยังมองเป็นลบต่อหุ้นส่งออก-นำเข้ารถยนต์ จากยอดส่งออกรถยนต์ที่มีทิศทางชะลอตัวมากขึ้น ขณะที่ยอดจดทะเบียน BEV ใหม่ ยังฟื้นตัวช้าจากการสิ้นสุดมาตรการสนับสนุน EV3.0 ที่ต้องจดทะเบียนภายใน 31 มกราคม 2567
สำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ NYT (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 4.90 บาท) กำไรปี 2567-2568 จะเติบโตลดลงจากฐานสูง และมีปัจจัย overhang จากท่าเทียบเรือ A5 ที่เป็นธุรกิจหลัก จะใกล้สิ้นสุดสัมปทานในอีก 2 ปีข้างหน้า
รวมถึงมองเป็นลบต่อหุ้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์และจำนำทะเบียนรถ จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง สะท้อนถึงความต้องการรถยนต์ที่ชะลอตัว ซึ่งกดดันต่อยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของผู้ประกอบการเช่าซื้อที่น้อยลง
อีกทั้งทางฝ่ายยังประเมินว่าผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อยังกดดันจากราคารถมือสองที่ยังต่ำ จากความต้องการที่ยังไม่ดีขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ทำให้มีโอกาสรับรู้ขาดทุนรถยึดที่ยังสูง คาดสูงสุดประมาณ ลดลง 20% (อิง used car index ปี 2566 ที่ลดลงสูงสุด 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน)
ส่วนกลุ่มธนาคาร ทางฝ่ายประเมินผลกระทบจากมากไปน้อย ได้แก่ KKP (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 52.00 บาท) เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 48%, TISCO (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 100.00 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 46% และ TTB (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 2.10 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 31%
สำหรับกลุ่ม Finance จะกระทบสินเชื่อที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่พึ่งพิงเศรษฐกิจ ได้แก่ THANI (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 2.50 บาท), ASK, MICRO ขณะที่กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน TIDLOR (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 23.00 บาท), SAWAD (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 39.00 บาท) และ MTC (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 52.00 บาท) จะได้ผลกระทบทางอ้อมจากปริมาณรถในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และกดดันต่อโอกาสในการขยายสินเชื่อจำนำทะเบียน