SJWD พร้อมลุยแลนด์บริดจ์ จ่อดึงพันธมิตรเสริมแกร่ง มีลุ้นปลายปีปิดดีลเพิ่ม

05 มิ.ย. 2567 | 08:51 น.

SJWD มองบวกรัฐบาลผลักดันแลนด์บริดจ์โกยเงินลงทุนต่างชาติเข้าประเทศมหาศาล โชว์ความพร้อมเข้าร่วมประมูลงาน ผนึก Synergy พันธมิตรเสริมแกร่ง แย้มมีดีลอยู่ระหว่างเจรจา 3-4 ดีล คาดปลายปีได้เห็นความชัดเจนอย่างน้อย 1 ดีล ปักธงรายได้ปี 67 โต 10-12%

ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD เปิดเผยว่า ประเด็นการผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ "โครงการแลนด์บริดจ์" ของรัฐบาลนั้น มองหากผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จะเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศไทยมาก เนื่องจากจะดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มอย่างมาก

ในส่วนของ SJWD เองก็มีความสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดังกล่าว หากว่ามีการเปิดประมูลในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเสนอราคาด้วย ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นการจับมือร่วมกันกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อเอาความเชี่ยวชาญและความรู้ที่มีมาผนวกรวมกัน เพื่อต่อยอดด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านในการให้บริการโลจิสติกส์ เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการดำเนินการร่วมกันได้

จากนี้ไปคงต้องรอดูความชัดเจนของภาครัฐก่อนว่าจะสามารถผลักดันโครงการออกมาได้เร็วมากน้อยแค่ไหน กรอบการประมูลงานของภาคเอกชน และจะมีการเปิดประมูลงานในภาคส่วนใดบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนของการพิจารณาและการลงทุนนั้น ค่อนข้างมีความซับซ้อนและต้องให้ระยะเวลา

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2567 มองว่าอาจเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2567 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 6,288.02 ล้านบาท โดยธุรกิจ Automotive Yard ยังดูทรงตัว เพราะตามปกติในไตรมาส 2 จะเป็นโลวซีซันของแบรนด์รถสัญชาติญี่ปุ่น แต่ด้วยปัจจุบันกระแสรถ EV โดยเฉพาะแบรนด์จีนได้รับความนิยม ทำให้อัตราการเช่าใช้พื้นที่จึงถัวเฉลี่ยการเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดขายมีข้อจำกัดมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจห้องเย็น (Cold chain) มีการเติบโตที่ค่อนข้างดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2567 เนื่องจากเริ่มเห็นอัตราการจองใช้ (Occupancy rate) เร่งตัวขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ส่วนของศูนย์บริการส่งออก Export Service Center (ESC) และคลังสินค้าที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ยังคงมีการขยายตัวที่ดี ปัจจุบันมีอัตราการเช่าที่สูงราว 60-70% รวมถึงจะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวจากการควบรวมกิจการแล้ว จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจนี้จะเติบโตทั้งในแง่ของรายได้และผลกำไรอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ บริษัทยังปรับกลยุทธ์การขนส่งสินค้ากลุ่ม Commodity ด้วยการขยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่มที่ไม่ใช่ซีเมนต์ (Non cement) อาทิ การขนส่งถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าในกัมพูชา, ควบคู่กับความต้องการขนส่งสินค้ากลุ่มซีเมนต์, ปิโตรเคมีของกลุ่ม SCG ในประเทศเวียดนามเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่งวดไตรมาส 3/2567 เป็นต้นไป เบื้องต้นกลุ่มบริษัทยังคงเป้ารายได้รวมทั้งปี 2567 เติบโต Double digit หรือราว 10-12% จากปีก่อนที่ทำได้ 3,979.0 ล้านบาท ควบคู่การรักษาอัตราการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ให้เติบโตแข็งแกร่ง

ในแง่ของผลกำไรนั้น เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2/2567 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 ที่ทำได้ 164.12 ล้านบาท เพราะบริษัทมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI ผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ใน 3 ของเอเชียในธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าแก่สายการบินต่างๆ (General Sales Agent หรือ GSA) กว่า 20 สายการบิน ครอบคลุม 8 ประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 20% ซึ่งคาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก ANI ประมาณ 185 ล้านบาท ในปี 2567 นี้ 

และ ในบริษัท Swift Haulage Berhad หรือ SWIFT (สวิฟท์) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งทางรถและเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถเทรลเลอร์ (รถหัวลาก) รายใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ช่วยเพิ่มศักยภาพให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนในเส้นทางไทย - มาเลเซีย - สิงคโปร์ เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากสวิฟท์ประมาณ 55 ล้านบาท ในปี 2567 นี้

*ปลายปีปิดดีลใหม่

พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมามีดีลที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาอยู่ในมือประมาณ 3-4 ดีล โดยบริษัทจะมุ่งเน้นในดีลที่มีไซส์ไม่ใหญ่มาก มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อดีล ส่วนการร่วมทุน (JV) นั้น จะมุ่งเน้นในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ การขนส่ง คลังสินค้า ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยจะมองหาดีลที่สามารถเข้ามาต่อยอดธุรกิจหลักในมือของบริษัทได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีโอกาสจะได้เห็นความชัดเจนอย่างน้อย 1 ดีล

แผนการลงทุนในปี 2567 นั้น บริษัทตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ราว 1,000-1,500 ล้านบาท รองรับโครงการก่อสร้างคลังสินค้าเฟส 2 บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี, การนำคลังสินค้าของ SCGL ที่เชียงใหม่มาปรับปรุงเป็นคลังสินค้าห้องเย็น รวมถึงการลงทุนร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างคลังสินค้า เพิ่มพื้นที่รองรับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียในอนาคต ซึ่งเงินลงทุนในส่วนนี้ยังไม่นับรวมกับดีบ M&A หรือ JV ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันในช่วงปลายปี 2567 นั้น บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ วงเงินใกล้เคียงกับปีก่อนที่เคยออกหุ้นกู้ไว้ที่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หลักๆ เพื่อเป็นการทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน รวมถึงเพื่อเป็นการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิม ที่มีอัตราการจ่ายดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่า 4-5% ให้ลงมาเหลือราว 3-4% ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษํทลดลง และเป็นเงินทุนสำหรับหมุนเวียนในธุรกิจ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการชำระหุ้นกู้ และการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อเป็นการลดต้นทุนดอกเบี้ยเท่านั้น